วันศุกร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ตามหา Dictionary ชั้นเลิศ ตอนที่ ๒ สิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า Dictionary

ตอนที่แล้ว สัญญาว่าจะมาแนะนำการเลือกใช้ดิกชันนารีที่เหมาะกับแต่ละคน ก่อนจะเข้าสู่รายละเอียด เรามาดูก่อนว่าดิกชันนารีมีกี่ประเภท แต่ละประเภทเป็นอย่างไรบ้าง ที่เห็นทั่วไปคือ

๑. พจนานุกรมสองภาษา หรือที่เราเรียกว่า dictionary แปลอังกฤษเป็นไทย ไทยเป็นอังกฤษ อังกฤษเป็นสเปน ญี่ปุ่นเป็นไทย หาซื้อได้มากมายและหลากหลาย แต่คุณภาพและมาตรฐานหาเหมือนกันไม่ ถ้าต้องการเพิ่มวงคำศัพท์ได้ในระดับหนี่งหยิบเล่มไหนก็คงจะได้ แต่ถ้าต้องการที่พึ่งทางการศึกษาเพื่อพัฒนาอย่างจริงจัง คงต้องใส่ใจในรายละเอียดเล็กน้อย แล้วเราจะมาพูดถึงในรายละเอียดในโอกาสอันใกล้

๒. พจนานุกรมแบบภาษาเดียว แปลอังกฤษเป็นอังกฤษ ไทยเป็นไทย ญี่ปุ่นเป็นญี่ปุ่น เยอรมันเป็นเยอรมัน ชาวไทยผู้ศึกษาภาษาอังกฤษหลายคนพยายามหลีกเลี่ยงเป็นที่สุด แต่ขอบอกเลยว่าถ้าคุณยอมอดทนกับพจนานุกรมประเภทนี้ ภาษาคุณจะพัฒนาได้เร็ว และสามารถใช้ภาษาอังกฤษบรรยายสิ่งต่างๆ ได้อย่างเป็นธรรมชาติมากกว่าคนที่ใช้ดิกชันนารีแปลอังกฤษเป็นไทย

๓. พจนานุกรมฉบับคำพ้อง จะไม่บรรยายความหมายของคำ รวบรวมคำพ้องความหมายไว้ด้วยกัน ภาษาไทยเรียกว่าอรรธภิธาน ภาษาอังกฤษเรียกว่า Thesaurus ส่วนใหญ่ผู้ใช้จะเป็นพวกนักแปลหรือนักโฆษณาที่ต้องคิดคำไพเราะที่แตกต่างไว้ใช้ให้งานเขียนของเขามีความเป็นเอกลักษณ์ ละเมียดละไม และจับใจผู้คน ผู้เรียนเพื่อการสอบจำหามาไว้ท่อง synonym ก็ไม่เป็นไร แต่เล่มใหญ่นะ ขอบอก

๓. พจนานุกรมหลายภาษา เช่น อังกฤษ-ไทย-จีน, ไทย-จีน-ญี่ปุ่น, อังกฤษ-ฝรั่งเศส-ไทย เป็นต้น พวกนี้เหมาะสำหรับคนที่ศึกษาสามภาษา มักจะมีคำศัพท์ การออกเสียง และคำแปล แต่มักไม่มีรายละเอียดทางด้านการไวยากรณ์หรือตัวอย่างประโยค

๔. พจนานุกรมภาพ อาจมีหนึ่ง สอง หรือสามภาษาขึ้นไป มีภาพประกอบไว้บอกว่ามันเป็นอะไรและมักไม่มีคำอธิบาย จึงไม่ค่อยมีศัพท์ที่เป็นนามธรรม เช่น คำว่า "เสื้อกันหนาว" คำเดียวในภาษาไทย เป็นภาษาอังกฤษได้ว่าอะไรบ้าง ตั้งแต่ coat, overcoat, jersey, sweater, sweatshirt, anorak, jacket, cardigan แตกต่างกันอย่างไร อ่านคำอธิบายอย่างไรก็คงไม่เห็นภาพ จำเป็นมากสำหรับการศึกษาคนที่ต้องการศึกษาวัฒนธรรมที่แตกต่าง ตั้งแต่การแต่งกาย อุปกรณ์เครื่องใช้ อาหารการกิน สัตว์ ต้นไม้ ฯลฯ จากต่างถิ่น สมัยก่อนจะเป็นภาพวาดที่คลาสสิกมากๆ แต่สมัยนี้หาได้ยากมากแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นภาพถ่าย

๔. พจนานุกรมศัพท์เฉพาะ มีตั้งแต่ พจนานุกรมศัพท์แพทย์ ชีววิทยา ปรัชญา ฯลฯ เหมาะกับผู้ต้องการศึกษาเฉพาะทางค่ะ

๕. พจนานุกรมทางเลือก แอฟฟลิเคชั่นในมือถือ หรือเว็บไซต์ดิกชันนารีออนไลน์เป็นต้น

จะเยอะไปไหนเนี่ย แล้วเลือกใช้อย่างไรดี พวกบ้าดิกชันนารีอย่างเราก็คงจะอยากได้มันหมดทุกเล่ม เนื่องด้วยไม่มีดิกชันนารีเล่มไหนที่แทนกันได้ ซึ่งมันก็จริง
แต่สำหรับคนที่เรียนภาษาปกติ คงต้องการดิกชันนารีเล่มเดียวที่ใช่ใช่ไหมล่ะ

ถ้าเค้าบอกว่าจะมาต่อตอนหน้าอีกรอบ จะดักตีหัวเค้ามั้ย
อุอุอุ


ตามหา Dictionary ชั้นเลิศ ตอนที่ ๑ คนที่ไม่ใช่จะมาก่อนคนที่ใช่ ดิกชันนารีก็เหมือนกัน

ช่วงนี้ไม่ค่อยมีเวลาวิเคราะห์โจทย์ข้อสอบกันต้องขออภัยด้วย แต่วันนี้มีหัวข้อที่อยากแบ่งปัน เรื่องของเรื่องก็คือ เราเป็นคนชอบเปิดดิกชันนารีมาก ตอนเรียนอยู่วันดีคืนดีก็เอามาเปิดหาศัพท์แล้วแบ่งกลุ่มเล่น ดิกเล่มไหนไม่มีดัชนีแบ่งตามตัวอักษรที่ขอบก็นั่งลงสีเล่นเอง ดิกเล่มไหนปกเน่าก็เอามากระดาษแข็งมาดามแล้วตกแต่งด้วยภาพปะติดและกลอนเพราะๆ ตามภาษานั้นๆ ดิกเก่าแค่ไหนก็ทิ้งไม่ลง เพราะมันเป็นประวัติศาสตร์ เอามาเปรียบเทียบได้ว่า คำนี้อีกสิบหรือยี่สิบปีข้างหน้าจะหายไปไหม หรือจะมีความหมายเปลี่ยนไปอย่างไร เรียกว่าเป็นเอามาก ทำคานไว้สะสมวางดิกชันนารีแล้วเอาตัวเองขึ้นไปกินนอนด้วยกันเลยก็ว่าได้

หลังๆ มานี่พอได้สอนไพรเวทคลาสบ่อยๆ ก็ชอบสอนให้นักเรียนหัดเปิดดิกเอง เพื่อใช้เพิ่มพูนคำศัพท์ในวงสแครบเบิ้ล และเมื่อน้องเปิดเก่งแล้วก็จะสามารถศึกษาด้วยตัวเองเวลาอยู่บ้านได้ เวลาสั่งให้อ่านบทความ น้องๆ สามารถไปเปิดดิกหาความหมายมาล่วงหน้าได้ ไม่ต้องเสียเวลาหาศัพท์ในห้องเรียนหรือเอาแต่ถามอาจารย์แล้ววิเคราะห์เองไม่เป็น เราสอนด้วยจุดมุ่งหมายให้เด็กๆ สามารถพึ่งพาตัวเองทางวิชาการได้ วิเคราะห์ข้อสอบเองได้ พอน้องสนุก ขอให้พ่อแม่ซื้อดิกชันนารีไว้เป็นสมบัติส่วนตัว ก็เลยขอให้เราช่วยแนะนำดิกชันนารีดีๆ ให้ เราก็เลยคิดว่าเรามาเขียนถึงการเลือกดิกชันนารีกันดีกว่า

เด็กหลายคนไม่ยอมเปิดดิก บอกว่าขี้เกียจและมันไม่จำเป็น แค่ใช้ application ในมือถือเอาก็พอแล้ว หาศัพท์ง่าย ไม่เสียเวลา ซึ่งก็จริงในประเด็นเหล่านั้น  แต่เราอยากบอกว่า การเปิดดิกในมือถือมีข้อดีเฉพาะการหาความหมายในสถานการณ์เฉพาะหน้าเท่านั้น และยังมีข้อเสียหลายอย่างที่ทำให้การพัฒนาด้านภาษาของผู้เรียนไม่ก้าวหน้าได้อย่างที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะดิกที่โหลดมาฟรีมักไม่มีรายละเอียดที่ผู้เรียนภาษาเพื่อการอ่าน การเขียน และการทำข้อสอบจำเป็นต้องใช้ จึงอยากขอสรุปมาตรงนี้ว่า ดิกชันนารีที่ไม่เหมาะสมในการพัฒนาภาษาเป็นอย่างไร ซึ่งไม่ได้หมายความเฉพาะ app ดิกในมือถือเท่านั้น ดิกชันนารีเป็นเล่มที่มีลักษณะเหล่านี้ก็ไม่เหมาะสำหรับคนที่เรียนภาษาอังกฤษเพื่ออนาคตเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อเรากำลังจะเข้า AEC แล้วทำสังคมเราให้เป็นสังคมอินเตอร์ที่พูดคุย สื่อสารทางวิชาการและทำธุรกิจกับต่างชาติได้ในระดับเดียวกับสากล

สรุปเลย ดิกชันนารีที่ไม่ดีต่อการพัฒนาทักษะทางภาษามีลักษณะด้งต่อไปนี้

1. ประเด็นที่สำคัญของการใช้ดิกชันนารีมือถือหรือ talking dict ที่พิมพ์คำแล้วหาความหมายได้เลย คือทำให้เด็กๆ ลืมลำดับพยัญชนะ a - z และมีความอดทนต่ำ แม้ฟังดูไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่เวลาที่ไปหาข้อมูลที่เป็นรายการในเอกสารที่ใส่คีย์เวิร์ดหาออกมาไม่ได้แล้วน้องต้องไล่มาตั้งแต่ a-z เพราะลำดับก่อนหลังไม่เป็นเนี่ย เสียเวลามากนะคะ แล้วเด็กที่แค่หัดเปิดดิกชันนารียังไม่อดทนเนี่ย จะมีความอดทนกับอะไรในชีวิตจริงบ้างไหม คิดแล้วก็น่าห่วงนะคะ เดี๋ยวนี้อะไรก็ต้องเร็วทันใจไปเสียหมด ใครอยู่ใกล้ก็คงไม่สบายใจเพราะต้องตามใจเขาไปทุกเรื่อง การให้น้องหัดเปิดดิกเป็นการฝึกความพยายามที่ไม่หนักหนาและเห็นผลได้ไว เมื่อน้องหาศัพท์ได้ไว้กว่าเพื่อนก็ภูมิใจในตัวเองได้อย่างไม่ยากเย็น และการพึ่งพาแต่แหล่งความรู้บนอินเตอร์เน็ตก็มีผลเสียมากพอๆ กับผลดีอย่างที่เรารู้ๆ กัน ว่ามีข้อมูลเท็จ ข้อมูลเทียม ข้อมูลที่ไม่สามารถนำมาใช้ได้จริงและข้อมูลที่เป็นอันตรายเต็มไปหมด เพราะการจะสร้างแหล่งความรู้บนอินเตอร์เน็ตนั้นง่ายแสนง่าย ใครๆ ก็ทำได้และแก้ไขได้ง่ายด้วยเวลาเพียงไม่กี่นาที การที่เราสามารถใช้แหล่งความรู้อื่นที่ได้มาตรฐานมากกว่า แม้จะต้องใช้เวลากับมันมากกว่าก็นับว่าคุ้มค่าในระยะยาวนะคะ

2. ดิกชันนารีที่ไม่บอกวิธีออกเสียงทำให้เด็กออกเสียงไม่ถูก เพราะดิกในมือถือโดยเฉพาะที่แถมมาหรือดาวน์โหลดมาฟรีๆ เนี่ย มักจะไม่มีคำอ่านนะคะ และคำอ่านที่เขียนเป็นภาษาไทยก็มักให้เสียงไม่ค่อยตรง ก็หลักการออกเสียงของภาษาตะวันออกกับตะวันตกมันไม่เหมือนกัน ในมหาวิทยาลัยเขาเรียนกันเป็นเทอม ดังนั้นเราจะออกเสียงได้ถูกต้องก็ด้วยการเรียนการออกเสียงตามแบบภาษาอังกฤษที่ใช้กลุ่มตัวอักษรโฟเนติกแทนเสียงเท่านั้น ไม่ใช่การเอาอักษรไทยมาแทนเสียงแล้วจบ

3.  App ดิกชันนารีในมือถือและดิกเล่มเล็กหลายเล่มไม่บอกชนิดของคำ หรือบอกแบบแกนๆ ไม่ระเอียด แต่มันเป็นที่ส่วนสำคัญมากในการทำความเข้าใจไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ การแปล และการแต่งประโยคให้ถูกต้อง การบอกชนิดของคำที่ดีต้องไม่บอกแค่เป็นคำนาม (n.) แต่ความหมายใดเป็นคำนามนับไม่ได้ (nu.) ความหมายใดเป็นคำนามนับได้ (nc.) เพราะคำนามหลายคำใช้ได้ทั้งสองแบบ และมันส่งผลต่อการใช้คำคุณศัพท์และการผันกิริยา ส่วนกิริยา (v.) ก็ต้องบอกว่าความหมายไหนต้องการกรรม (vt.)  ความหมายไหนไม่ต้องการกรรม (vi.) ซึ่งกิริยาที่ไม่ต้องการกรรมนั้นจะใช้ในรูป passive voice ไม่ได้

4.  ดิกในมือถือและดิกเล่มเล็กจำนวนมากไม่มีตัวอย่างประโยคให้เปรียบเทียบ ผลคือเด็กแปลได้เป็นคำๆ แต่เรียบเรียงความหมายในประโยคไม่ค่อยได้ แบบว่าจินตนาการไปเองได้ไกลสุดแรงฝันแต่ไม่ตรงกับความจริงในข้อเขียน เวลาทำข้อสอบก็เลยต้องเดาเป็นหลัก การเขียนก็จะอ่อนตามไปด้วย การใช้ภาษาอังกฤษอย่างเป็นธรรมชาติยิ่งไม่ต้องพูดถึง

5. app ดิกในมือถือและดิกชันนารีเล่มเล็กมักมีจำนวนคำศัพท์น้อยมาก ซึ่งไม่เหมาะสำหรับคนที่เรียนภาษาเพื่อการสอบในระดับมัธยมปลายขึ้นไป เนื่องจากในระดับนี้ เริ่มมีศัพท์ทางด้านวิชาการในข้อสอบแล้ว ดูอย่าง MDX, MD-02 ซิ (ข้อสอบสำหรับศึกษาต่อแพทย์ศาสตร์) ถ้าเป็นข้อสอบ TOEIC ก็เป็นศัพท์ทางธุรกิจ ถ้าเป็นข้อสอบ CU-Tep, TU-Get ก็เป็นศัพท์ทางวิชาการสาขาต่างๆ ตั้งแต่เคมี ชีวะ ไปจนถึงธรณีวิทยา และดาราศาสตร์ ศาสตร์แห่งภาษาและคำศัพท์นั้นกว้างใหญ่ไพศาลพอๆ กับจักรวาลดาวล้านดวง ยิ่งเราใช้หน้าต่างบานเล็กแค่ไหน เราก็เห็นได้น้อยแค่นั้นค่ะ เปรียบเทียบให้เห็นชัดๆ กันไปเลย

ถ้าอย่างนั้น ดิกชันนารีแบบไหนที่เหมาะกับผู้เรียนมากที่สุดล่ะ ก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้เรียนด้วยว่ากำลังเรียนอยู่ในระดับไหน และมีวัตถุประสงค์ของการศึกษาเป็นอย่างไร ตอนหน้า เราจะมาอธิบายให้ชัดเจนขึ้นไปอีก ดิกชันนารีแบบไหนกันนะที่น่าซื้อไว้เพื่อการเรียนภาษาที่เต็มประสิทธิภาพของแต่ละคน

รอพี่เขียนแป๊บ พี่จัดเต็มแน่นอน

ตามหา Dictionary ชั้นเลิศ ตอนที่ ๒ สิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า Dictionary

วันจันทร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

เมื่อคุณศัพท์กำกับคำนาม

คำนามคือคำที่เราใช้เรียกคน สัตว์ สิ่งของ เช่น ต้นไม้ ภูเขา รถยนต์ บ้าน ฯลฯ ในภาษาไทย บ้านจะกี่หลังก็เป็นบ้าน แต่ในภาษาอังกฤษ บ้านหนึ่งหลังเรียก house บ้านหลายหลังต้องเติม -s เป็น houses เรียกว่าคำนามของเขามีรูปเอกพจน์เวลามีชิ้นเดียว (เช่น house, dog, child, etc.) และมีรูปพหูหจน์เวลามีหลายชิ้น (เช่น houses, dogs, children, etc.) เป็นต้น อันนี้เป็นหลักเบื้องต้น ยังมีคำที่ใช้รูปเดียวสำหรับทั้งเอกพจน์และพหูพจน์ (เช่น sheep, fish, etc.) มีใช้รูปเอกพจน์แบบหนึ่ง พหูพจน์แบบหนึ่ง (เช่น person กับ people) อันนั้นค่อยมาว่ากันทีหลังแล้วกันนะ

ส่วนคำคุณศัพท์คือคำที่ใช้เพิ่มความหมายของสิ่งของ เช่น สีดำ สีแดง สีขาว ใหญ่ เล็ก กว้าง สวย ฉลาด ฯลฯ

ในภาษาไทยเราวางคำคุณศัพท์ไว้หลังคำนาม ดีไม่ดีมีลักษณะนามมาวางคั่น เช่น บ้านหลังใหญ่  
แต่ในภาษาอังกฤษจะวางคำคุณศัพท์ไว้ข้างหน้า เช่น a big house

โดยทั่วไปแล้ว ทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ คำคุณศัพท์นั้นไม่ต้องผันคำ บ้านจะกี่หลังก็ big ตัวเดียวเหมือนกัน แม้คำว่า "บ้าน" จะผันเป็นพหูพจน์ก็ตาม เช่น This is a big house. = บ้านหลังนี้ใหญ่ กับ Those houses are big. = บ้านเหล่านั้นหลังใหญ่จัง

(อย่าคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดานะคะ หลายภาษาผันคำนามเอกพจน์เป็นพหูพจน์ซับซ้อนกว่านี้ แล้วคำคุณศัพท์ก็ผันตามกันไปด้วย เห่อๆๆๆ)

สิ่งที่น่าสนใจในความสัมพันธ์ที่ไม่มีความแน่นแฟ้นในการผันคำของคำนามกับคำคุณศัพท์นี้ก็คือ ในบางกรณีนั้น คำคุณศัพท์จะเป็นตัวชี้ว่าคำนามนั้นจะผันอย่างไร อุแม่เจ้า ไม่เห็นเคยได้ยินอะไรแบบนี้

มันมีจริงๆ หรือ???

จริงจ้า.....!!!


ยกตัวอย่างเช่น




The first person believed 1. to have used a series of 2. photograph 3. to produce 4. an illusion of movement was Coleman Sellers.

"คนแรกที่เชื่อกันว่าเป็นผู้นำชุดภาพถ่ายมาทำเป็นภาพเคลื่อนไหวก็คือ โคลแมน เซลเลอร์ส"

เห็นอะไรรึเปล่าเอ่ย...
คิดก่อนแล้วค่อยอ่านเฉลยข้างล่างนะคะ







ข้อนี้ที่ผิดคือ ข้อ..... 2
เพราะ a series of หมายถึง ชุดของ ซึ่งมีความหมายบอกว่าคำนามที่ตามมาจะต้องเป็นพหูพจน์ คือ a series of photographs หรือ ชุดรูปภาพ นั่นเอง

จะว่ากันจริงๆ คำว่า a series of นี่ก็ไม่ได้เป็นคำคุณศัพท์นะคะ แต่ด้วยลักษณะการวางไว้หน้าคำนามเหมือนกัน และมีวีธีการคิดเหมือนกันก็เลยเอามายกเป็นตัวอย่างในกรณีเดียวกัน

คำคุณศัพท์ที่มีความหมายเป็นพหูพจน์ก็มีไว้ใช้กับคำนามที่เป็นพหูพจน์เท่านั้นคือ เช่น various กับ several เป็นต้น (แปลว่า แตกต่าง, หลากหลาย) เจอสองคำนี้เหมือนไหร่ คำนามที่ตามหลังมาต้องเป็นคำพหูพจน์เท่านั้น

เช่นเดียวกับ all of, each of, every of ซึ่งคำที่ตามหลังคำเหล่านี้ต้องเป็น คำนำหน้านามและคำนามพหูพจน์ เช่น all of these students = นักเรียนเหล่านี้ทั้งหมด, Each of my brothers = พี่ชายแต่ละคนของฉัน,  Every of those houses = บ้านทุกหลังเหล่านั้น

แต่ถ้าไม่มีคำนำหน้านาม คำว่า each กับ every จะใช้กับคำนามเอกพจน์นะคะ เช่น Each student = นักเรียนแต่ละคะ, Every house = บ้านทุกๆ หลัง

แปลออกมาจะมีความหมายเหมือนกัน แต่ความเป็นเอกพจน์กับพหูพจน์ในภาษาอังกฤษไม่เหมือนกัน อาจจะฟังดูเข้าใจยาก แต่ขอเพียงเราไม่กลัวสิ่งที่เราไม่เข้าใจ ใส่ใจกับมัน แล้วให้เวลากับมัน พอเราคุ้นเคยมันแล้ว ก็ไม่มีอะไรน่ากลัวค่ะ

ภาษานั้นควรจะเป็นเรื่องง่ายที่สุดแล้ว เพราะมันเป็นสิ่งที่มนุษย์ใช้ในการทำความเข้าใจกัน ^^
มีทัศนคติที่ดีกับมัน มันก็จะใจดีกับเราค่ะ ^^
เจอกันใหม่ตอนหน้าจะเป็นเรื่องอะไร ติดตามกันต่อไปจ้า



วันพฤหัสบดีที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2557

การสร้างศัพท์เรียกของใช้ในภาษาอังกฤษ

ภาษาอังกฤษเรียนได้ทุกที่ วันก่อนไปเปิดดูรายการสิ่งประดิษฐ์ของชาวญี่ปุ่นที่ Japan Foundation ทำออกมาเผยแพร่ ก็พบว่าการสร้างศัพท์เรียกของใช้ในภาษาอังกฤษนั้นมีหลากหลายวิธีและน่าสนใจทีเดียว คราวนี้เลยของดเขียนถึงข้อสอบมาเป็นหมวดคำศัพท์บ้าง ซึ่งก็สำคัญสำหรับการสอบเหมือนกันนะ

การสร้างศัพท์เรียกของใช้ในภาษาอังกฤษมีได้หลากหลายวิธี อย่างน้อยก็ดังต่อไปนี้

1. NOUN = คำนามปกติ มีความหมายในตัวเอง เช่น
          chair = เก้าอี้
          table = โต๊ะ  
          cushion = เบาะ
       
2. NOUN+ware = คำนามตามด้วยคำว่า -ware หมายถึงของใช้สำหรับคำนามคำนั้น เช่น
          houseware = ของใช้ในบ้าน
          tableware = ของใช้บนโต๊ะรับประทานอาหาร
          kitchenware = ของใช้ในครัว

3. VERB-ing + NOUN = คำกิริยาเติม -ing วางไว้หน้าคำนาม เพื่อบอกว่าของสิ่งนี้ใช้ทำอะไร เช่น
          washing machine = เครื่องซักผ้า
          chewing gum = ยางไว้เคี้ยว (หมากฝรั่ง)
          lighting fixture = อุปกรณ์ติดตั้งที่ให้แสงสว่าง (อุปกรณ์แสงสว่าง)

4. VERB-er = คำกิริยาต่อท้ายด้วยส่วนของคำที่ทำให้คำนั้นเป็นผู้กระทำ (-er) หมายถึง เครื่องมือที่ใช้ทำกิริยานี้ เช่น
          speaker = ผู้พูด หรือสิ่งที่พูดออกมา (ลำโพง)
          rice cooker = หม้อหุงข้าว
          ice-cream maker = เครื่องทำไอศครีม

5. ADJECTIVE + NOUN = คำคุณศัพท์ นำหน้าคำนาม หมายความว่า เครื่องใช้นั้นเป็นอย่างไร ทำมาจากอะไร หรือใช้เพื่อใคร เช่น
          personal computer (PC) = คอมพิวเตอร์สำหรับใช้งานส่วนบุคคล
          digital musical instrument = เครื่องดนตรีดิจิตัล
          universal pen = ปากกาที่ใช้ทั่วไป

6. VERB+suffix ที่ใช้สร้างคำนาม = คำกิริยาต่อท้ายด้วยส่วนของคำที่ทำให้คำนั้นเป็นคำนาม หมายถึงสิ่งของที่ใช้ตามนั้น เช่น
          store (เก็บ) +age = storage = ห้องเก็บของ หรือ ชั้นเก็บของ
          furnish (ตกแต่ง) +ure = furniture = เครื่องเรือน ของตกแต่งบ้าน
          cut (ตัด) +lery = cutlery = เครื่องมือที่ใช้ตัดอาหาร

7. ADJECTIVE + suffix ที่ใช้สร้างคำกิริยา + suffix ที่ใช้สร้างคำนาม = คำคุณศัพท์ต่อท้ายด้วยส่วนของคำที่ทำให้คำนั้นเป็นคำกิริยาและส่วนของคำที่ทำให้คำนั้นเป็นผู้กระทำ เช่น
          pure+ify+er = purifier = ผู้ทำให้บริสุทธิ์ (เครื่องกรอง)
          sharp+en+er = sharpener = ผู้ทำให้คม (pencil sharpener = กบเหลาดินสอ)

หลังการสร้างคำเสร็จสิ้น คำเหล่านี้ล้วนทำหน้าที่เป็นคำนาม

คราวหน้าถ้าไปเจอข้อสอบถามว่า

Is it _____?_____ water.           1. drink           2. drinks          3. drinking         4. drunk

ก็รู้แล้วนะคะว่าต้องตอบ 3. drinking water ซึ่งเป็นว่าน้ำดื่มค่ะ ^^ (น้ำสำหรับดื่ม)

ขอบคุณ แค็ตตาล็อกนวัตกรรมของชาวญี่ปุ่น ที่ให้แรงบันดาลใจในการเขียนบล็อกวันนี้ พิมพ์เเผยแพร่โดย Japan Foundation


วันศุกร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2557

ชนิดของคำสำคัญมากๆ

ในการทำข้อสอบแบบหาที่ผิดนั้นความรู้เรื่องโครงสร้างและชนิดของคำสำคัญมากๆ คำไหนเป็นคำชนิดใด ใช้ร่วมกับคำชนิดใด และตำแหน่งที่มันอยู่นั้นต้องการคำชนิดเดียวกันหรือไม่ แบบนี้เอามาออกข้อสอบบ่อยมาก และเป็นจุดอ่อนอีกจุดหนึ่งของผู้เรียนภาษาชาวไทย เพราะคำภาษาไทยนั้นไม่สามารถบอกได้จากการเขียนว่าเป็นคำชนิดใด ต้องตีความจากประโยคเอา ทำให้คนไทยหลายคนไม่ค่อยเข้าใจความสำคัญของชนิดของคำและใช้สลับไปมาในการใช้ภาษาอังกฤษ เพราะคิดว่าแค่เข้าใจก็พอแล้ว แต่ในภาษาอังกฤษเรามักจะบอกได้จากส่วนท้ายหรือส่วนหน้าของคำนั้นๆ ว่าเป็นคำชนิดใด โดยมีความแม่นยำที่ 70 - 100% เลยทีเดียว

ตัวอย่างโจทย์ภาษาอังกฤษที่น่าสนใจที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ในวันนี้คือ

Protective behaviours of 1. amphibians include hiding 2. in the presence of danger and 3. having coloration 4. such closely matching the environment that the animal is not obvious.

คำไหนใช้ผิดเอ่ย.....






วิธีคิด
1. Protective behaviours of amphibians = พฤติกรรมในการป้องกันตัวเองของสัตว์ครึ่งบนครึ่งน้ำ นี้ amphibians เป็นคำนาม อยู่ในตำแหน่งของคำนาม (หลัง of) ก็ถูกต้องแล้ว 

2. include hiding in the presence of danger = รวมถึงการซ่อนตัวเมื่ออันตรายมาเยือน (ถ้าแปลตามเขาเลยจะได้ว่า "ในสถานการณ์ที่อันตรายปรากฎตัว") ซึ่งในบริบทนี้ การใช้ in เป็นบุพบท ก็ถูกต้องแล้ว

3. and having coloration = และมีการใช้สี การใช้ having ตรงนี้สัมพันธ์ต่อเนื่องมาจากการคำว่า include hiding ... and having ... นั่นคือ คำว่า include ซึ่งแปลว่า "รวมถึง" นั้นจะตามด้วยคำนามเสมอ ถ้าเราจะใช้คำกิริยาตรงนี้ เราต้องเปลี่ยนคำกิริยานั้นๆ ให้อยู่ในรูป -ing หรือ gerund เพื่อให้สามารถทำหน้าที่เป็นคำนามได้นั่นเอง และเมื่อมีคำว่า and เชื่อม hiding and having ทั้งสองคำนี้ก็ต้องมีรูปและชนิดของคำเช่นเดียวกัน ตามกฎของโครงสร้างคู่ขนาน ดังนั้นข้อนี้ก็ถูกต้องแล้ว

4. such closely matching the environment = ที่ช่างเข้ากันกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างแนบเนียน
เหลืออยู่ข้อเดียวดังนั้นข้อนี้ก็ผิดแล้วล่ะ แต่มันผิดอย่างไรล่ะ

ข้อสอบข้อนี้เล่นกับความเหมือนกับความต่างของการใช้ so กับ such ที่แปลว่า -มาก หรือ ช่าง- เหมือนๆ กัน แต่....

SO นั้น ใช้กับคำคุณศัพท์ (adjective) กับ คำวิเศษณ์ (adverb) เช่น
The meal was so good! =อาหารมื้อนั้นช่างดีจริงๆ (good เป็นคำ adjective)
She spoke so quickly. = หล่อนพูดเร็วเหลือเกิน (quickly เป็นคำ adverb)

ในขณะที่คำว่า SUCH นั้นใช้กับคำนาม (noun) หรือกลุ่มคำนาม (noun phrase) เช่น
Frank has never made such mistakes before. = แฟร้งค์ไม่เคยทำความผิดพลาดอย่างนี้มาก่อน (mistakes เป็นคำนาม)
She is such a genius! = หล่อนเป็นอัจฉริยะจริงๆ (a genius เป็นกลุ่มคำนาม เพราะประกอบด้วย article กับ noun)
Don has such a big house. = ดอนมีบ้านหลังใหญ่จริงๆ (a big house เป็นกลุ่มคำนามที่ประกอบด้วย article + adjective + noun)

คราวนี้ก็กลับมาที่โจทย์ของเรา "such closely matching the environment"
closely matching the environment ที่ตามหลัง such มานี้ ประกอบด้วยคำชนิดในบ้าง บางคนเห็น matching มี -ing แล้วก็คิดว่าเป็นคำกิริยา หรือ gerund ที่เทียบเท่ากับคำนามเลย ถ้างั้นมันก็ต้องใช้กับ such เหมือนเดิมสิ

แต่ช้าก่อน กิริยาภาษาอังกฤษว่าด้วยเรื่อง Verb+ing นั้นล้ำลึกกว่านั้นมาก

ถ้า Verb+ing ทำหน้าที่เป็นคำนาม เราเรียกมันว่า gerund
แต่ Verb+ing ยังทำหน้าที่ได้อีกอย่าง เราเรียกมันว่า present participle คือ เป็นส่วนที่แสดงการกระทำที่ยังดำรงอยู่ และตัวนี้นี่เองยังสามารถทำหน้าที่เป็นคำคุณศัพท์ได้อีกด้วย เช่น

It is interesting. = มันน่าสนใจ
I am interested. = ฉันรู้สึกสนใจ
ในสองประโยคนี้ ตามโครงสร้างประโยคแล้ว interesting กับ interested หลัง be ทำหน้าที่เป็นคำคุณศัพท์ที่บ่งบอกว่า it เป็นอย่างไร และ I รู้สึกอย่างไร ไม่ใช่คำกิริยา เพราะมันไม่ได้แสดงการกระทำ

เราสามารถสังเกตคำว่า closely ได้ด้วย คำนี้เป็น adverb ซึ่งจะใช้ขยายคำกิริยาหรือคุณศัพท์ ไม่ใช่คำนาม

ในโจทย์ข้อนี้ matching เป็นกึ่งคำกิริยากึ่งคำคุณศัพท์ คือทำหน้าที่เป็นคำคุณศัพท์ เพราะมันหมายความถึงสถาวะ "ที่เข้ากันได้ดีกับ" ไม่ใช่กิริยาที่แสดงการกระทำว่าเข้าคู่กับใคร และเมื่อมันเป็นคำคุณศัพท์ มันจึงต้องใช้กับ so ไม่ใช่ such

เป็นคำอธิบายที่ยาวเหลือเกิน

แต่เป็นโครงสร้างที่น่าสนใจมาก และถ้าเราทำความเข้าใจก็จะสามารถเป็นพื้นฐานที่ดีต่อไปในการพัฒนาความสามารถในการทำโจทย์แบบนี้



ขอบคุณ www.englishpage.com









วันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

3. สนุกกับ ERRORS และมุมมองที่ต่างกันของภาษา

ประสบการณ์การทำข้อสอบ Errors ทำให้เข้าใจมุมมองที่ต่างกันของแต่ละภาษา ผู้ศึกษาภาษาที่มีความชำนาญจะเข้าใจว่าภาษาไม่ใช่การแปลคำต่อคำแล้วจบ และยังมีมากกว่าสำนวนและไวยากรณ์ แต่มีมุมมองทื่ละเอียดลึกซึ้งไปคนละด้าน การศึกษาภาษาอย่างละเอียดอ่อนทำให้เราเข้าใจวัฒนธรรมในการคิดที่แตกต่างกันอย่างลึกซึ้งด้วย

เคยได้ยินว่านักแปลชาวตะวันตกผู้หนึ่งต้องการแปลกลอนโบราณของญี่ปุ่นเป็นภาษาอังกฤษ และกลอนง่ายๆ ที่ว่า "นกร้องบนต้นไม้" นั้นกลับแปลได้ยากเย็นและเป็นปัญหา เนื่องจากว่าในภาษาตะวันออกนั้น จำนวนนับไม่ค่อยจะมีความสำคัญ เมื่อรู้ว่ามีนกร้องอยู่บนต้นไม้นั้นก็เข้าใจกันว่ามี แค่ในภาษาอังกฤษนั้นต้องบอกว่า a bird หรือ some birds หรือ many birds นกหนึ่งตัวหรือหลายตัวให้มันชัดเจนลงไป

นับว่าน่าสนใจมาก กับประเด็นเดียวกันที่มีความชัดเจนต่างกันเพียงเรามองคนละมุม

ยกตัวอย่างโจทย์ที่น่าสนใจในทำนองนี้โจทย์หนึ่ง

When Martin saw 1. all the soda 2. serving at the party, he suggested that he 3. be allowed 4. to serve the whisky.

ข้อไหนผิดเอ่ย... พิจารณาด้วยตัวเองก่อนดูเฉลยนะคะ







วิธีคิด

1. all the (ทั้งหมด) ใช้กับ soda ได้ไหมโดยที่ soda ไม่เติม -s ให้เป็นคำพหูพจน์ ตอบว่าได้ เพราะ soda เป็นเครื่องดื่ม ไม่มีรูปพหูพจน์ ไม่ต้องเติม -s. ข้อนี้จึงถูก
2. serving (กำลังเสริ์ฟ) นี้ใช้กับสิ่งใดและใครเป็นผู้กระทำ จะเห็นได้ว่าถ้า serving นี้แสดงอาการของ soda คำถามคือว่า soda กำลังเสริ์ฟตัวเอง หรือใครกำลังเสริ์ฟ soda และแน่นอนว่า soda เป็นสิ่งของที่ทำการเสริ์ฟตัวเองไม่ได้ มันจึงต้อง "ถูกเสริ์ฟ" ซึ่งควรจะเป็นรูป passive voice แบบย่อ คือ served ข้อนี้จึงผิด
3. แต่ก็อาจมีคนแย้งว่าทำไม be ที่ตามหลัง he จึงไม่ควรผันเป็น is คำตอบก็คือ be ตัวนี้ไม่ได้เป็นกิริยาที่แสดงการกระทำเมื่อมันตามหลัง he suggested that ... ("เขาแนะว่าเขา" ควรจะได้รับอนุญาติให้เสริ์ฟวิสกี้) แต่เขาไม่ได้รับการเสริ์ฟวิสกี้จริงๆ  กิริยา be ตัวนี้ไม่ผันเพราะไม่ใช่การกระทำที่เกิดขึ้นจริงๆ แต่เป็นความต้องการของเขา ลักษณะการใช้ภาษาแบบนี้เราเรียกว่า subjunctive mode กิริยาใน mode นี้มักจะอยู่ในรูปที่ยังไม่ผัน หรือ infinitive ข้อนี้จึงถูก
4. allow แปลว่าอนุญาติให้ทำอะไร วิธีใช้จึงตามหลังด้วย to และกิริยาที่ไม่ผัน (allow+to+infinitive verb) ข้อนี้จึงถูก

สำหรับคนไทยที่ภาษาไทยไม่มีการผันกิริยาตามประธานอาจจะงงเล็กน้อยเมื่อทำตัวให้เคยชินกับการผันกิริยาตามประธานแล้วก็ต้องมาพบว่ามีกฎการผันและไม่ผันอีกหลายแบบ การเรียนภาษาให้เกิดความชำนาญจึงไม่ควรท่องจำเพื่อสอบเพียงอย่างเดียว และอย่าท่องแต่ keyword คือมีคำนนั้นคำนี้ให้ใช้ tense นั้น tense นี้ หรือใช้อย่างนั้นอย่างนี้นี้ทันทีโดยไม่ทำความเข้าใจ แต่ควรเข้าใจแนวคิดของเจ้าของภาษาด้วยว่าการใช้กิริยาที่แสดงการกระทำต่างๆ นั้นมีความแตกต่างกันไปตามเงื่อนไขต่อไปนี้

1. ผู้กระทำเป็นใครและมีกี่คน (subject)
2. คนพูดต้องการเน้นว่าอาการนั้นเกิดโดยใครเป็นผู้กระทำ หรือเกิดกับใครโดยไม่ต้องการอ้างถึงผู้กระทำ (active voice หรือ passive voice)
3. ช่วยเวลาที่ทำ หรือ ทัศนคติด้านเวลาที่เรามีต่อสิ่งนั้น (tenses)
4. เราทำสิ่งนั้นจริงๆ หรือไม่ หรือเราแค่แสดงความคิดว่ามันน่าจะทำ (subjunctive mode) หรือว่าเป็นคำสั่งให้ใครทำแต่เขายังไม่ได้ทำจริงๆ (imparative mode)

ซึ่งต้องยอมรับว่ามีความละเอียดอ่อนและน่าสนใจแตกต่างกันไปในแต่ละภาษา

วันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

2. Errors ทำยังไง?

Error เป็นข้อสอบที่เป็นประโยคหนึ่งประโยค ขี้เส้นใต้คำบางคำแล้วให้เลือกว่าคำไหนที่ใช้ผิด ส่วนใหญ่จะจบแค่นั้น แต่ข้อสอบจากบางสนามนั้นจะให้เราเลือกตอบต่อด้วยว่าแก้อย่างไรจึงจะถูก

ข้อสอบแบบนี้จัดการได้ด้วยการหาความสัมพันธ์ของคำที่ขี้เส้นใต้กับคำที่มีความสัมพันธ์กันทางไวยากรณ์ เช่น คำนามเอกพจน์ทำให้กิริยาในปัจจุบันกาลเติม -s เป็นต้น ส่วนใหญ่คนที่ทำข้อสอบนี้ได้ดีควรจะเข้าใจโครงสร้างทางไวยากรณ์ของภาษาอังกฤษแบบคร่าวๆ และเข้าใจว่าคำแต่ละคำนั้นเป็นคำประเภทใดและมีความสัมพันธ์กันอย่างไร เช่นนั้นแล้ว แม้ไม่เข้าใจความหมายของประโยคทั้งประโยคก็สามารถตอบได้ไม่ยาก (ถ้าเข้าใจโครงสร้างของคำจะสามารถบอกได้ว่าคำคำหนึ่งนั้นทำหน้าที่ใดในประโยค และมีความหมายเป็นบวกหรือเป็นลบ ส่วนใหญ่ก็จะยังพอทำข้อสอบส่วนนี้ได้แม้จะไม่เข้าใจความหมายของคำก็ตาม) จึงเป็นข้อสอบที่ทำสนุกเหมือนกับการแก้โจทย์คณิตศาสตร์

ตัวอย่างข้อสอบประเภทนี้คือ

If a baby bird 1. stays alive for two or three weeks after 2. leaving the nest, it has a 3. fair chance of 4. becomes an adult.

วิธีทำข้อสอบแบบนี้ึคือตอบให้ได้ว่าคำที่เป็นตัวเลือกนั้นเป็นคำประเภทใด มีควรจะมีความสัมพันธ์กับคำใดในประโยคนั้นอย่างไร

1. stays alive เป็นกิริยาเติม -s กับ คำคุณศัพท์ ประธานที่กิริยาตัวนี้ผันตามคือ a baby bird ซึ่งเป็นคำนามเอกพจน์ stay+s ก็ถูกต้องแล้ว
2. leaving เป็นกิริยาเติม -ing คำกิริยาที่อยู่ตามหลังคำว่า after โดยไม่มีประธานนำหน้าจะเติม -ing เสมอ ข้อนี้จึงถูก
3. fair เป็นคำคุณศัพท์ วางไว้หน้าคำนาม chance ก็ถูกแล้ว
4. becomes เป็นกิริยาเติม -s แต่คำกิริยาที่ตามหลังคำบุพบท (ยกเว้นบุพบท to) จะเป็น Gerund หรือ เติม -ing เพื่อให้มีศักดิ์ศรีเท่ากับคำนาม ดังนั้นข้อนี้จึงผิด ถ้าต้องแก้ไขให้ถูกต้องแก้เป็น becoming.

โจทย์ข้อนี้แปลว่า "ถ้าลูกนกอยู่รอดได้สองถึงสามสัปดาห์หลังจากออกจากรังก็จะมีโอกาสอย่างมากที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่"

วันพุธที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2557

1. Cloze Test คืออะไร

Cloze Test คือการเลือกคำตอบที่ถูกต้องมาเติมในช่องว่าง ซึ่งเราสามารถทำความเข้าใจว่าสิ่งที่หายไปคืออะไรได้จากการอ่านโจทย์และตัวเลือก บางครั้งเป็นเรื่องของความหมาย (ตัวเลือกทุกตัวเป็นคำประเภทเดียวกัน แต่ต่างความหมาย) บางครั้งเป็นเรื่องของประเภทของคำ (ตัวเลือกทุกตัวมีรากศัพท์มาจากคำเดียวกัน แต่มี suffix หรือส่วนท้ายของคำ ที่แตกต่างกัน ทำให้คำนั้นๆ มีหน้าที่ในประโยคต่างกัน บางคำเป็นคำนาม บางคำเป็นคำกิริยา เป็นต้น) บางครั้งเป็นการผันกิริยาตามประธานและตามกาล บางครั้งเป็นการเรียงลำดับในประโยคให้ถูกต้อง ฯลฯ

นับว่าเป็นโจทย์วัดความรู้ภาษาอังกฤษแบบรวบองค์ประชุมและเป็นการวัดดวงอยู่ในที

แต่ก็ใช่ว่าจะยาก ความน่าสนใจของโจทย์ประเภทนี้ก็คือ บางครั้งแม้จะไม่เข้าใจความหมายของทุกคำในประโยค เราก็สามารถตอบได้ถ้าเราเข้าใจไวยากรณ์และความเชื่อมโยงที่คำแต่ละคำมีต่อกัน

วิธีทำโจทย์แบบนี้ให้ดูที่ตัวเลือกก่อนเลยว่าเป็นอย่างไร เช่น

A: Don't take the last cookie. It's for your brother.
B: But he _____ all the cookies last time.

1) eat
2) eats
3) ate
4) has eaten
5) had eaten
6) will eat

ในข้อนี้จะเห็นว่าตัวเลือกเป็นการผันกิริยา eat ตามกาลเวลาต่างๆ

แล้วการผันกิริยานั้นผันอย่างไรล่ะ ในภาษาอังกฤษ ถ้าเป็นกิริยาแท้ (แสดงการกระทำของประธานโดยตรง) จะผันตามประธาน (ผู้กระทำกิริยานั้น) และกาล (เวลาที่เขาทำกิริยานั้น) เท่านั้น

ในประโยคนี้ ใครเป็นประธานของประโยค และคำไหนที่บอกเวลาของประโยค


A: Don't take the last cookie. It's for your brother.
B: But he _____ all the cookies last time.

Last time (ครั้งสุดท้าย) บ่งบอกว่าประโยคนี้เป็น Past Simple Tense ซึ่งเป็นอดีตที่จบไปแล้ว จะใช้กิริยาช่องที่ 2 [eat - ate - eaten] สำหรับประธานทุกตัว

ดังนั้นข้อนี้จึงตอบ ข้อ 3) ate

A: Don't take the last cookie. It's for your brother. (อย่าเขาคุกกี้ชิ้นสุดท้ายไปกินนะ เก็บไว้ให้น้อง)
B: But he ate all the cookies last time. (แต่ครั้งสุดท้ายนั้นเขากินคุกกี้หมดเลยนะครับ)