วันศุกร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ตามหา Dictionary ชั้นเลิศ ตอนที่ ๑ คนที่ไม่ใช่จะมาก่อนคนที่ใช่ ดิกชันนารีก็เหมือนกัน

ช่วงนี้ไม่ค่อยมีเวลาวิเคราะห์โจทย์ข้อสอบกันต้องขออภัยด้วย แต่วันนี้มีหัวข้อที่อยากแบ่งปัน เรื่องของเรื่องก็คือ เราเป็นคนชอบเปิดดิกชันนารีมาก ตอนเรียนอยู่วันดีคืนดีก็เอามาเปิดหาศัพท์แล้วแบ่งกลุ่มเล่น ดิกเล่มไหนไม่มีดัชนีแบ่งตามตัวอักษรที่ขอบก็นั่งลงสีเล่นเอง ดิกเล่มไหนปกเน่าก็เอามากระดาษแข็งมาดามแล้วตกแต่งด้วยภาพปะติดและกลอนเพราะๆ ตามภาษานั้นๆ ดิกเก่าแค่ไหนก็ทิ้งไม่ลง เพราะมันเป็นประวัติศาสตร์ เอามาเปรียบเทียบได้ว่า คำนี้อีกสิบหรือยี่สิบปีข้างหน้าจะหายไปไหม หรือจะมีความหมายเปลี่ยนไปอย่างไร เรียกว่าเป็นเอามาก ทำคานไว้สะสมวางดิกชันนารีแล้วเอาตัวเองขึ้นไปกินนอนด้วยกันเลยก็ว่าได้

หลังๆ มานี่พอได้สอนไพรเวทคลาสบ่อยๆ ก็ชอบสอนให้นักเรียนหัดเปิดดิกเอง เพื่อใช้เพิ่มพูนคำศัพท์ในวงสแครบเบิ้ล และเมื่อน้องเปิดเก่งแล้วก็จะสามารถศึกษาด้วยตัวเองเวลาอยู่บ้านได้ เวลาสั่งให้อ่านบทความ น้องๆ สามารถไปเปิดดิกหาความหมายมาล่วงหน้าได้ ไม่ต้องเสียเวลาหาศัพท์ในห้องเรียนหรือเอาแต่ถามอาจารย์แล้ววิเคราะห์เองไม่เป็น เราสอนด้วยจุดมุ่งหมายให้เด็กๆ สามารถพึ่งพาตัวเองทางวิชาการได้ วิเคราะห์ข้อสอบเองได้ พอน้องสนุก ขอให้พ่อแม่ซื้อดิกชันนารีไว้เป็นสมบัติส่วนตัว ก็เลยขอให้เราช่วยแนะนำดิกชันนารีดีๆ ให้ เราก็เลยคิดว่าเรามาเขียนถึงการเลือกดิกชันนารีกันดีกว่า

เด็กหลายคนไม่ยอมเปิดดิก บอกว่าขี้เกียจและมันไม่จำเป็น แค่ใช้ application ในมือถือเอาก็พอแล้ว หาศัพท์ง่าย ไม่เสียเวลา ซึ่งก็จริงในประเด็นเหล่านั้น  แต่เราอยากบอกว่า การเปิดดิกในมือถือมีข้อดีเฉพาะการหาความหมายในสถานการณ์เฉพาะหน้าเท่านั้น และยังมีข้อเสียหลายอย่างที่ทำให้การพัฒนาด้านภาษาของผู้เรียนไม่ก้าวหน้าได้อย่างที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะดิกที่โหลดมาฟรีมักไม่มีรายละเอียดที่ผู้เรียนภาษาเพื่อการอ่าน การเขียน และการทำข้อสอบจำเป็นต้องใช้ จึงอยากขอสรุปมาตรงนี้ว่า ดิกชันนารีที่ไม่เหมาะสมในการพัฒนาภาษาเป็นอย่างไร ซึ่งไม่ได้หมายความเฉพาะ app ดิกในมือถือเท่านั้น ดิกชันนารีเป็นเล่มที่มีลักษณะเหล่านี้ก็ไม่เหมาะสำหรับคนที่เรียนภาษาอังกฤษเพื่ออนาคตเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อเรากำลังจะเข้า AEC แล้วทำสังคมเราให้เป็นสังคมอินเตอร์ที่พูดคุย สื่อสารทางวิชาการและทำธุรกิจกับต่างชาติได้ในระดับเดียวกับสากล

สรุปเลย ดิกชันนารีที่ไม่ดีต่อการพัฒนาทักษะทางภาษามีลักษณะด้งต่อไปนี้

1. ประเด็นที่สำคัญของการใช้ดิกชันนารีมือถือหรือ talking dict ที่พิมพ์คำแล้วหาความหมายได้เลย คือทำให้เด็กๆ ลืมลำดับพยัญชนะ a - z และมีความอดทนต่ำ แม้ฟังดูไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่เวลาที่ไปหาข้อมูลที่เป็นรายการในเอกสารที่ใส่คีย์เวิร์ดหาออกมาไม่ได้แล้วน้องต้องไล่มาตั้งแต่ a-z เพราะลำดับก่อนหลังไม่เป็นเนี่ย เสียเวลามากนะคะ แล้วเด็กที่แค่หัดเปิดดิกชันนารียังไม่อดทนเนี่ย จะมีความอดทนกับอะไรในชีวิตจริงบ้างไหม คิดแล้วก็น่าห่วงนะคะ เดี๋ยวนี้อะไรก็ต้องเร็วทันใจไปเสียหมด ใครอยู่ใกล้ก็คงไม่สบายใจเพราะต้องตามใจเขาไปทุกเรื่อง การให้น้องหัดเปิดดิกเป็นการฝึกความพยายามที่ไม่หนักหนาและเห็นผลได้ไว เมื่อน้องหาศัพท์ได้ไว้กว่าเพื่อนก็ภูมิใจในตัวเองได้อย่างไม่ยากเย็น และการพึ่งพาแต่แหล่งความรู้บนอินเตอร์เน็ตก็มีผลเสียมากพอๆ กับผลดีอย่างที่เรารู้ๆ กัน ว่ามีข้อมูลเท็จ ข้อมูลเทียม ข้อมูลที่ไม่สามารถนำมาใช้ได้จริงและข้อมูลที่เป็นอันตรายเต็มไปหมด เพราะการจะสร้างแหล่งความรู้บนอินเตอร์เน็ตนั้นง่ายแสนง่าย ใครๆ ก็ทำได้และแก้ไขได้ง่ายด้วยเวลาเพียงไม่กี่นาที การที่เราสามารถใช้แหล่งความรู้อื่นที่ได้มาตรฐานมากกว่า แม้จะต้องใช้เวลากับมันมากกว่าก็นับว่าคุ้มค่าในระยะยาวนะคะ

2. ดิกชันนารีที่ไม่บอกวิธีออกเสียงทำให้เด็กออกเสียงไม่ถูก เพราะดิกในมือถือโดยเฉพาะที่แถมมาหรือดาวน์โหลดมาฟรีๆ เนี่ย มักจะไม่มีคำอ่านนะคะ และคำอ่านที่เขียนเป็นภาษาไทยก็มักให้เสียงไม่ค่อยตรง ก็หลักการออกเสียงของภาษาตะวันออกกับตะวันตกมันไม่เหมือนกัน ในมหาวิทยาลัยเขาเรียนกันเป็นเทอม ดังนั้นเราจะออกเสียงได้ถูกต้องก็ด้วยการเรียนการออกเสียงตามแบบภาษาอังกฤษที่ใช้กลุ่มตัวอักษรโฟเนติกแทนเสียงเท่านั้น ไม่ใช่การเอาอักษรไทยมาแทนเสียงแล้วจบ

3.  App ดิกชันนารีในมือถือและดิกเล่มเล็กหลายเล่มไม่บอกชนิดของคำ หรือบอกแบบแกนๆ ไม่ระเอียด แต่มันเป็นที่ส่วนสำคัญมากในการทำความเข้าใจไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ การแปล และการแต่งประโยคให้ถูกต้อง การบอกชนิดของคำที่ดีต้องไม่บอกแค่เป็นคำนาม (n.) แต่ความหมายใดเป็นคำนามนับไม่ได้ (nu.) ความหมายใดเป็นคำนามนับได้ (nc.) เพราะคำนามหลายคำใช้ได้ทั้งสองแบบ และมันส่งผลต่อการใช้คำคุณศัพท์และการผันกิริยา ส่วนกิริยา (v.) ก็ต้องบอกว่าความหมายไหนต้องการกรรม (vt.)  ความหมายไหนไม่ต้องการกรรม (vi.) ซึ่งกิริยาที่ไม่ต้องการกรรมนั้นจะใช้ในรูป passive voice ไม่ได้

4.  ดิกในมือถือและดิกเล่มเล็กจำนวนมากไม่มีตัวอย่างประโยคให้เปรียบเทียบ ผลคือเด็กแปลได้เป็นคำๆ แต่เรียบเรียงความหมายในประโยคไม่ค่อยได้ แบบว่าจินตนาการไปเองได้ไกลสุดแรงฝันแต่ไม่ตรงกับความจริงในข้อเขียน เวลาทำข้อสอบก็เลยต้องเดาเป็นหลัก การเขียนก็จะอ่อนตามไปด้วย การใช้ภาษาอังกฤษอย่างเป็นธรรมชาติยิ่งไม่ต้องพูดถึง

5. app ดิกในมือถือและดิกชันนารีเล่มเล็กมักมีจำนวนคำศัพท์น้อยมาก ซึ่งไม่เหมาะสำหรับคนที่เรียนภาษาเพื่อการสอบในระดับมัธยมปลายขึ้นไป เนื่องจากในระดับนี้ เริ่มมีศัพท์ทางด้านวิชาการในข้อสอบแล้ว ดูอย่าง MDX, MD-02 ซิ (ข้อสอบสำหรับศึกษาต่อแพทย์ศาสตร์) ถ้าเป็นข้อสอบ TOEIC ก็เป็นศัพท์ทางธุรกิจ ถ้าเป็นข้อสอบ CU-Tep, TU-Get ก็เป็นศัพท์ทางวิชาการสาขาต่างๆ ตั้งแต่เคมี ชีวะ ไปจนถึงธรณีวิทยา และดาราศาสตร์ ศาสตร์แห่งภาษาและคำศัพท์นั้นกว้างใหญ่ไพศาลพอๆ กับจักรวาลดาวล้านดวง ยิ่งเราใช้หน้าต่างบานเล็กแค่ไหน เราก็เห็นได้น้อยแค่นั้นค่ะ เปรียบเทียบให้เห็นชัดๆ กันไปเลย

ถ้าอย่างนั้น ดิกชันนารีแบบไหนที่เหมาะกับผู้เรียนมากที่สุดล่ะ ก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้เรียนด้วยว่ากำลังเรียนอยู่ในระดับไหน และมีวัตถุประสงค์ของการศึกษาเป็นอย่างไร ตอนหน้า เราจะมาอธิบายให้ชัดเจนขึ้นไปอีก ดิกชันนารีแบบไหนกันนะที่น่าซื้อไว้เพื่อการเรียนภาษาที่เต็มประสิทธิภาพของแต่ละคน

รอพี่เขียนแป๊บ พี่จัดเต็มแน่นอน

ตามหา Dictionary ชั้นเลิศ ตอนที่ ๒ สิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า Dictionary

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น