วันศุกร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ตามหา Dictionary ชั้นเลิศ ตอนที่ ๒ สิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า Dictionary

ตอนที่แล้ว สัญญาว่าจะมาแนะนำการเลือกใช้ดิกชันนารีที่เหมาะกับแต่ละคน ก่อนจะเข้าสู่รายละเอียด เรามาดูก่อนว่าดิกชันนารีมีกี่ประเภท แต่ละประเภทเป็นอย่างไรบ้าง ที่เห็นทั่วไปคือ

๑. พจนานุกรมสองภาษา หรือที่เราเรียกว่า dictionary แปลอังกฤษเป็นไทย ไทยเป็นอังกฤษ อังกฤษเป็นสเปน ญี่ปุ่นเป็นไทย หาซื้อได้มากมายและหลากหลาย แต่คุณภาพและมาตรฐานหาเหมือนกันไม่ ถ้าต้องการเพิ่มวงคำศัพท์ได้ในระดับหนี่งหยิบเล่มไหนก็คงจะได้ แต่ถ้าต้องการที่พึ่งทางการศึกษาเพื่อพัฒนาอย่างจริงจัง คงต้องใส่ใจในรายละเอียดเล็กน้อย แล้วเราจะมาพูดถึงในรายละเอียดในโอกาสอันใกล้

๒. พจนานุกรมแบบภาษาเดียว แปลอังกฤษเป็นอังกฤษ ไทยเป็นไทย ญี่ปุ่นเป็นญี่ปุ่น เยอรมันเป็นเยอรมัน ชาวไทยผู้ศึกษาภาษาอังกฤษหลายคนพยายามหลีกเลี่ยงเป็นที่สุด แต่ขอบอกเลยว่าถ้าคุณยอมอดทนกับพจนานุกรมประเภทนี้ ภาษาคุณจะพัฒนาได้เร็ว และสามารถใช้ภาษาอังกฤษบรรยายสิ่งต่างๆ ได้อย่างเป็นธรรมชาติมากกว่าคนที่ใช้ดิกชันนารีแปลอังกฤษเป็นไทย

๓. พจนานุกรมฉบับคำพ้อง จะไม่บรรยายความหมายของคำ รวบรวมคำพ้องความหมายไว้ด้วยกัน ภาษาไทยเรียกว่าอรรธภิธาน ภาษาอังกฤษเรียกว่า Thesaurus ส่วนใหญ่ผู้ใช้จะเป็นพวกนักแปลหรือนักโฆษณาที่ต้องคิดคำไพเราะที่แตกต่างไว้ใช้ให้งานเขียนของเขามีความเป็นเอกลักษณ์ ละเมียดละไม และจับใจผู้คน ผู้เรียนเพื่อการสอบจำหามาไว้ท่อง synonym ก็ไม่เป็นไร แต่เล่มใหญ่นะ ขอบอก

๓. พจนานุกรมหลายภาษา เช่น อังกฤษ-ไทย-จีน, ไทย-จีน-ญี่ปุ่น, อังกฤษ-ฝรั่งเศส-ไทย เป็นต้น พวกนี้เหมาะสำหรับคนที่ศึกษาสามภาษา มักจะมีคำศัพท์ การออกเสียง และคำแปล แต่มักไม่มีรายละเอียดทางด้านการไวยากรณ์หรือตัวอย่างประโยค

๔. พจนานุกรมภาพ อาจมีหนึ่ง สอง หรือสามภาษาขึ้นไป มีภาพประกอบไว้บอกว่ามันเป็นอะไรและมักไม่มีคำอธิบาย จึงไม่ค่อยมีศัพท์ที่เป็นนามธรรม เช่น คำว่า "เสื้อกันหนาว" คำเดียวในภาษาไทย เป็นภาษาอังกฤษได้ว่าอะไรบ้าง ตั้งแต่ coat, overcoat, jersey, sweater, sweatshirt, anorak, jacket, cardigan แตกต่างกันอย่างไร อ่านคำอธิบายอย่างไรก็คงไม่เห็นภาพ จำเป็นมากสำหรับการศึกษาคนที่ต้องการศึกษาวัฒนธรรมที่แตกต่าง ตั้งแต่การแต่งกาย อุปกรณ์เครื่องใช้ อาหารการกิน สัตว์ ต้นไม้ ฯลฯ จากต่างถิ่น สมัยก่อนจะเป็นภาพวาดที่คลาสสิกมากๆ แต่สมัยนี้หาได้ยากมากแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นภาพถ่าย

๔. พจนานุกรมศัพท์เฉพาะ มีตั้งแต่ พจนานุกรมศัพท์แพทย์ ชีววิทยา ปรัชญา ฯลฯ เหมาะกับผู้ต้องการศึกษาเฉพาะทางค่ะ

๕. พจนานุกรมทางเลือก แอฟฟลิเคชั่นในมือถือ หรือเว็บไซต์ดิกชันนารีออนไลน์เป็นต้น

จะเยอะไปไหนเนี่ย แล้วเลือกใช้อย่างไรดี พวกบ้าดิกชันนารีอย่างเราก็คงจะอยากได้มันหมดทุกเล่ม เนื่องด้วยไม่มีดิกชันนารีเล่มไหนที่แทนกันได้ ซึ่งมันก็จริง
แต่สำหรับคนที่เรียนภาษาปกติ คงต้องการดิกชันนารีเล่มเดียวที่ใช่ใช่ไหมล่ะ

ถ้าเค้าบอกว่าจะมาต่อตอนหน้าอีกรอบ จะดักตีหัวเค้ามั้ย
อุอุอุ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น