วันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

3. สนุกกับ ERRORS และมุมมองที่ต่างกันของภาษา

ประสบการณ์การทำข้อสอบ Errors ทำให้เข้าใจมุมมองที่ต่างกันของแต่ละภาษา ผู้ศึกษาภาษาที่มีความชำนาญจะเข้าใจว่าภาษาไม่ใช่การแปลคำต่อคำแล้วจบ และยังมีมากกว่าสำนวนและไวยากรณ์ แต่มีมุมมองทื่ละเอียดลึกซึ้งไปคนละด้าน การศึกษาภาษาอย่างละเอียดอ่อนทำให้เราเข้าใจวัฒนธรรมในการคิดที่แตกต่างกันอย่างลึกซึ้งด้วย

เคยได้ยินว่านักแปลชาวตะวันตกผู้หนึ่งต้องการแปลกลอนโบราณของญี่ปุ่นเป็นภาษาอังกฤษ และกลอนง่ายๆ ที่ว่า "นกร้องบนต้นไม้" นั้นกลับแปลได้ยากเย็นและเป็นปัญหา เนื่องจากว่าในภาษาตะวันออกนั้น จำนวนนับไม่ค่อยจะมีความสำคัญ เมื่อรู้ว่ามีนกร้องอยู่บนต้นไม้นั้นก็เข้าใจกันว่ามี แค่ในภาษาอังกฤษนั้นต้องบอกว่า a bird หรือ some birds หรือ many birds นกหนึ่งตัวหรือหลายตัวให้มันชัดเจนลงไป

นับว่าน่าสนใจมาก กับประเด็นเดียวกันที่มีความชัดเจนต่างกันเพียงเรามองคนละมุม

ยกตัวอย่างโจทย์ที่น่าสนใจในทำนองนี้โจทย์หนึ่ง

When Martin saw 1. all the soda 2. serving at the party, he suggested that he 3. be allowed 4. to serve the whisky.

ข้อไหนผิดเอ่ย... พิจารณาด้วยตัวเองก่อนดูเฉลยนะคะ







วิธีคิด

1. all the (ทั้งหมด) ใช้กับ soda ได้ไหมโดยที่ soda ไม่เติม -s ให้เป็นคำพหูพจน์ ตอบว่าได้ เพราะ soda เป็นเครื่องดื่ม ไม่มีรูปพหูพจน์ ไม่ต้องเติม -s. ข้อนี้จึงถูก
2. serving (กำลังเสริ์ฟ) นี้ใช้กับสิ่งใดและใครเป็นผู้กระทำ จะเห็นได้ว่าถ้า serving นี้แสดงอาการของ soda คำถามคือว่า soda กำลังเสริ์ฟตัวเอง หรือใครกำลังเสริ์ฟ soda และแน่นอนว่า soda เป็นสิ่งของที่ทำการเสริ์ฟตัวเองไม่ได้ มันจึงต้อง "ถูกเสริ์ฟ" ซึ่งควรจะเป็นรูป passive voice แบบย่อ คือ served ข้อนี้จึงผิด
3. แต่ก็อาจมีคนแย้งว่าทำไม be ที่ตามหลัง he จึงไม่ควรผันเป็น is คำตอบก็คือ be ตัวนี้ไม่ได้เป็นกิริยาที่แสดงการกระทำเมื่อมันตามหลัง he suggested that ... ("เขาแนะว่าเขา" ควรจะได้รับอนุญาติให้เสริ์ฟวิสกี้) แต่เขาไม่ได้รับการเสริ์ฟวิสกี้จริงๆ  กิริยา be ตัวนี้ไม่ผันเพราะไม่ใช่การกระทำที่เกิดขึ้นจริงๆ แต่เป็นความต้องการของเขา ลักษณะการใช้ภาษาแบบนี้เราเรียกว่า subjunctive mode กิริยาใน mode นี้มักจะอยู่ในรูปที่ยังไม่ผัน หรือ infinitive ข้อนี้จึงถูก
4. allow แปลว่าอนุญาติให้ทำอะไร วิธีใช้จึงตามหลังด้วย to และกิริยาที่ไม่ผัน (allow+to+infinitive verb) ข้อนี้จึงถูก

สำหรับคนไทยที่ภาษาไทยไม่มีการผันกิริยาตามประธานอาจจะงงเล็กน้อยเมื่อทำตัวให้เคยชินกับการผันกิริยาตามประธานแล้วก็ต้องมาพบว่ามีกฎการผันและไม่ผันอีกหลายแบบ การเรียนภาษาให้เกิดความชำนาญจึงไม่ควรท่องจำเพื่อสอบเพียงอย่างเดียว และอย่าท่องแต่ keyword คือมีคำนนั้นคำนี้ให้ใช้ tense นั้น tense นี้ หรือใช้อย่างนั้นอย่างนี้นี้ทันทีโดยไม่ทำความเข้าใจ แต่ควรเข้าใจแนวคิดของเจ้าของภาษาด้วยว่าการใช้กิริยาที่แสดงการกระทำต่างๆ นั้นมีความแตกต่างกันไปตามเงื่อนไขต่อไปนี้

1. ผู้กระทำเป็นใครและมีกี่คน (subject)
2. คนพูดต้องการเน้นว่าอาการนั้นเกิดโดยใครเป็นผู้กระทำ หรือเกิดกับใครโดยไม่ต้องการอ้างถึงผู้กระทำ (active voice หรือ passive voice)
3. ช่วยเวลาที่ทำ หรือ ทัศนคติด้านเวลาที่เรามีต่อสิ่งนั้น (tenses)
4. เราทำสิ่งนั้นจริงๆ หรือไม่ หรือเราแค่แสดงความคิดว่ามันน่าจะทำ (subjunctive mode) หรือว่าเป็นคำสั่งให้ใครทำแต่เขายังไม่ได้ทำจริงๆ (imparative mode)

ซึ่งต้องยอมรับว่ามีความละเอียดอ่อนและน่าสนใจแตกต่างกันไปในแต่ละภาษา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น