วันพฤหัสบดีที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2557

การสร้างศัพท์เรียกของใช้ในภาษาอังกฤษ

ภาษาอังกฤษเรียนได้ทุกที่ วันก่อนไปเปิดดูรายการสิ่งประดิษฐ์ของชาวญี่ปุ่นที่ Japan Foundation ทำออกมาเผยแพร่ ก็พบว่าการสร้างศัพท์เรียกของใช้ในภาษาอังกฤษนั้นมีหลากหลายวิธีและน่าสนใจทีเดียว คราวนี้เลยของดเขียนถึงข้อสอบมาเป็นหมวดคำศัพท์บ้าง ซึ่งก็สำคัญสำหรับการสอบเหมือนกันนะ

การสร้างศัพท์เรียกของใช้ในภาษาอังกฤษมีได้หลากหลายวิธี อย่างน้อยก็ดังต่อไปนี้

1. NOUN = คำนามปกติ มีความหมายในตัวเอง เช่น
          chair = เก้าอี้
          table = โต๊ะ  
          cushion = เบาะ
       
2. NOUN+ware = คำนามตามด้วยคำว่า -ware หมายถึงของใช้สำหรับคำนามคำนั้น เช่น
          houseware = ของใช้ในบ้าน
          tableware = ของใช้บนโต๊ะรับประทานอาหาร
          kitchenware = ของใช้ในครัว

3. VERB-ing + NOUN = คำกิริยาเติม -ing วางไว้หน้าคำนาม เพื่อบอกว่าของสิ่งนี้ใช้ทำอะไร เช่น
          washing machine = เครื่องซักผ้า
          chewing gum = ยางไว้เคี้ยว (หมากฝรั่ง)
          lighting fixture = อุปกรณ์ติดตั้งที่ให้แสงสว่าง (อุปกรณ์แสงสว่าง)

4. VERB-er = คำกิริยาต่อท้ายด้วยส่วนของคำที่ทำให้คำนั้นเป็นผู้กระทำ (-er) หมายถึง เครื่องมือที่ใช้ทำกิริยานี้ เช่น
          speaker = ผู้พูด หรือสิ่งที่พูดออกมา (ลำโพง)
          rice cooker = หม้อหุงข้าว
          ice-cream maker = เครื่องทำไอศครีม

5. ADJECTIVE + NOUN = คำคุณศัพท์ นำหน้าคำนาม หมายความว่า เครื่องใช้นั้นเป็นอย่างไร ทำมาจากอะไร หรือใช้เพื่อใคร เช่น
          personal computer (PC) = คอมพิวเตอร์สำหรับใช้งานส่วนบุคคล
          digital musical instrument = เครื่องดนตรีดิจิตัล
          universal pen = ปากกาที่ใช้ทั่วไป

6. VERB+suffix ที่ใช้สร้างคำนาม = คำกิริยาต่อท้ายด้วยส่วนของคำที่ทำให้คำนั้นเป็นคำนาม หมายถึงสิ่งของที่ใช้ตามนั้น เช่น
          store (เก็บ) +age = storage = ห้องเก็บของ หรือ ชั้นเก็บของ
          furnish (ตกแต่ง) +ure = furniture = เครื่องเรือน ของตกแต่งบ้าน
          cut (ตัด) +lery = cutlery = เครื่องมือที่ใช้ตัดอาหาร

7. ADJECTIVE + suffix ที่ใช้สร้างคำกิริยา + suffix ที่ใช้สร้างคำนาม = คำคุณศัพท์ต่อท้ายด้วยส่วนของคำที่ทำให้คำนั้นเป็นคำกิริยาและส่วนของคำที่ทำให้คำนั้นเป็นผู้กระทำ เช่น
          pure+ify+er = purifier = ผู้ทำให้บริสุทธิ์ (เครื่องกรอง)
          sharp+en+er = sharpener = ผู้ทำให้คม (pencil sharpener = กบเหลาดินสอ)

หลังการสร้างคำเสร็จสิ้น คำเหล่านี้ล้วนทำหน้าที่เป็นคำนาม

คราวหน้าถ้าไปเจอข้อสอบถามว่า

Is it _____?_____ water.           1. drink           2. drinks          3. drinking         4. drunk

ก็รู้แล้วนะคะว่าต้องตอบ 3. drinking water ซึ่งเป็นว่าน้ำดื่มค่ะ ^^ (น้ำสำหรับดื่ม)

ขอบคุณ แค็ตตาล็อกนวัตกรรมของชาวญี่ปุ่น ที่ให้แรงบันดาลใจในการเขียนบล็อกวันนี้ พิมพ์เเผยแพร่โดย Japan Foundation


วันศุกร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2557

ชนิดของคำสำคัญมากๆ

ในการทำข้อสอบแบบหาที่ผิดนั้นความรู้เรื่องโครงสร้างและชนิดของคำสำคัญมากๆ คำไหนเป็นคำชนิดใด ใช้ร่วมกับคำชนิดใด และตำแหน่งที่มันอยู่นั้นต้องการคำชนิดเดียวกันหรือไม่ แบบนี้เอามาออกข้อสอบบ่อยมาก และเป็นจุดอ่อนอีกจุดหนึ่งของผู้เรียนภาษาชาวไทย เพราะคำภาษาไทยนั้นไม่สามารถบอกได้จากการเขียนว่าเป็นคำชนิดใด ต้องตีความจากประโยคเอา ทำให้คนไทยหลายคนไม่ค่อยเข้าใจความสำคัญของชนิดของคำและใช้สลับไปมาในการใช้ภาษาอังกฤษ เพราะคิดว่าแค่เข้าใจก็พอแล้ว แต่ในภาษาอังกฤษเรามักจะบอกได้จากส่วนท้ายหรือส่วนหน้าของคำนั้นๆ ว่าเป็นคำชนิดใด โดยมีความแม่นยำที่ 70 - 100% เลยทีเดียว

ตัวอย่างโจทย์ภาษาอังกฤษที่น่าสนใจที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ในวันนี้คือ

Protective behaviours of 1. amphibians include hiding 2. in the presence of danger and 3. having coloration 4. such closely matching the environment that the animal is not obvious.

คำไหนใช้ผิดเอ่ย.....






วิธีคิด
1. Protective behaviours of amphibians = พฤติกรรมในการป้องกันตัวเองของสัตว์ครึ่งบนครึ่งน้ำ นี้ amphibians เป็นคำนาม อยู่ในตำแหน่งของคำนาม (หลัง of) ก็ถูกต้องแล้ว 

2. include hiding in the presence of danger = รวมถึงการซ่อนตัวเมื่ออันตรายมาเยือน (ถ้าแปลตามเขาเลยจะได้ว่า "ในสถานการณ์ที่อันตรายปรากฎตัว") ซึ่งในบริบทนี้ การใช้ in เป็นบุพบท ก็ถูกต้องแล้ว

3. and having coloration = และมีการใช้สี การใช้ having ตรงนี้สัมพันธ์ต่อเนื่องมาจากการคำว่า include hiding ... and having ... นั่นคือ คำว่า include ซึ่งแปลว่า "รวมถึง" นั้นจะตามด้วยคำนามเสมอ ถ้าเราจะใช้คำกิริยาตรงนี้ เราต้องเปลี่ยนคำกิริยานั้นๆ ให้อยู่ในรูป -ing หรือ gerund เพื่อให้สามารถทำหน้าที่เป็นคำนามได้นั่นเอง และเมื่อมีคำว่า and เชื่อม hiding and having ทั้งสองคำนี้ก็ต้องมีรูปและชนิดของคำเช่นเดียวกัน ตามกฎของโครงสร้างคู่ขนาน ดังนั้นข้อนี้ก็ถูกต้องแล้ว

4. such closely matching the environment = ที่ช่างเข้ากันกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างแนบเนียน
เหลืออยู่ข้อเดียวดังนั้นข้อนี้ก็ผิดแล้วล่ะ แต่มันผิดอย่างไรล่ะ

ข้อสอบข้อนี้เล่นกับความเหมือนกับความต่างของการใช้ so กับ such ที่แปลว่า -มาก หรือ ช่าง- เหมือนๆ กัน แต่....

SO นั้น ใช้กับคำคุณศัพท์ (adjective) กับ คำวิเศษณ์ (adverb) เช่น
The meal was so good! =อาหารมื้อนั้นช่างดีจริงๆ (good เป็นคำ adjective)
She spoke so quickly. = หล่อนพูดเร็วเหลือเกิน (quickly เป็นคำ adverb)

ในขณะที่คำว่า SUCH นั้นใช้กับคำนาม (noun) หรือกลุ่มคำนาม (noun phrase) เช่น
Frank has never made such mistakes before. = แฟร้งค์ไม่เคยทำความผิดพลาดอย่างนี้มาก่อน (mistakes เป็นคำนาม)
She is such a genius! = หล่อนเป็นอัจฉริยะจริงๆ (a genius เป็นกลุ่มคำนาม เพราะประกอบด้วย article กับ noun)
Don has such a big house. = ดอนมีบ้านหลังใหญ่จริงๆ (a big house เป็นกลุ่มคำนามที่ประกอบด้วย article + adjective + noun)

คราวนี้ก็กลับมาที่โจทย์ของเรา "such closely matching the environment"
closely matching the environment ที่ตามหลัง such มานี้ ประกอบด้วยคำชนิดในบ้าง บางคนเห็น matching มี -ing แล้วก็คิดว่าเป็นคำกิริยา หรือ gerund ที่เทียบเท่ากับคำนามเลย ถ้างั้นมันก็ต้องใช้กับ such เหมือนเดิมสิ

แต่ช้าก่อน กิริยาภาษาอังกฤษว่าด้วยเรื่อง Verb+ing นั้นล้ำลึกกว่านั้นมาก

ถ้า Verb+ing ทำหน้าที่เป็นคำนาม เราเรียกมันว่า gerund
แต่ Verb+ing ยังทำหน้าที่ได้อีกอย่าง เราเรียกมันว่า present participle คือ เป็นส่วนที่แสดงการกระทำที่ยังดำรงอยู่ และตัวนี้นี่เองยังสามารถทำหน้าที่เป็นคำคุณศัพท์ได้อีกด้วย เช่น

It is interesting. = มันน่าสนใจ
I am interested. = ฉันรู้สึกสนใจ
ในสองประโยคนี้ ตามโครงสร้างประโยคแล้ว interesting กับ interested หลัง be ทำหน้าที่เป็นคำคุณศัพท์ที่บ่งบอกว่า it เป็นอย่างไร และ I รู้สึกอย่างไร ไม่ใช่คำกิริยา เพราะมันไม่ได้แสดงการกระทำ

เราสามารถสังเกตคำว่า closely ได้ด้วย คำนี้เป็น adverb ซึ่งจะใช้ขยายคำกิริยาหรือคุณศัพท์ ไม่ใช่คำนาม

ในโจทย์ข้อนี้ matching เป็นกึ่งคำกิริยากึ่งคำคุณศัพท์ คือทำหน้าที่เป็นคำคุณศัพท์ เพราะมันหมายความถึงสถาวะ "ที่เข้ากันได้ดีกับ" ไม่ใช่กิริยาที่แสดงการกระทำว่าเข้าคู่กับใคร และเมื่อมันเป็นคำคุณศัพท์ มันจึงต้องใช้กับ so ไม่ใช่ such

เป็นคำอธิบายที่ยาวเหลือเกิน

แต่เป็นโครงสร้างที่น่าสนใจมาก และถ้าเราทำความเข้าใจก็จะสามารถเป็นพื้นฐานที่ดีต่อไปในการพัฒนาความสามารถในการทำโจทย์แบบนี้



ขอบคุณ www.englishpage.com