วันศุกร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ตามหา Dictionary ชั้นเลิศ ตอนที่ ๒ สิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า Dictionary

ตอนที่แล้ว สัญญาว่าจะมาแนะนำการเลือกใช้ดิกชันนารีที่เหมาะกับแต่ละคน ก่อนจะเข้าสู่รายละเอียด เรามาดูก่อนว่าดิกชันนารีมีกี่ประเภท แต่ละประเภทเป็นอย่างไรบ้าง ที่เห็นทั่วไปคือ

๑. พจนานุกรมสองภาษา หรือที่เราเรียกว่า dictionary แปลอังกฤษเป็นไทย ไทยเป็นอังกฤษ อังกฤษเป็นสเปน ญี่ปุ่นเป็นไทย หาซื้อได้มากมายและหลากหลาย แต่คุณภาพและมาตรฐานหาเหมือนกันไม่ ถ้าต้องการเพิ่มวงคำศัพท์ได้ในระดับหนี่งหยิบเล่มไหนก็คงจะได้ แต่ถ้าต้องการที่พึ่งทางการศึกษาเพื่อพัฒนาอย่างจริงจัง คงต้องใส่ใจในรายละเอียดเล็กน้อย แล้วเราจะมาพูดถึงในรายละเอียดในโอกาสอันใกล้

๒. พจนานุกรมแบบภาษาเดียว แปลอังกฤษเป็นอังกฤษ ไทยเป็นไทย ญี่ปุ่นเป็นญี่ปุ่น เยอรมันเป็นเยอรมัน ชาวไทยผู้ศึกษาภาษาอังกฤษหลายคนพยายามหลีกเลี่ยงเป็นที่สุด แต่ขอบอกเลยว่าถ้าคุณยอมอดทนกับพจนานุกรมประเภทนี้ ภาษาคุณจะพัฒนาได้เร็ว และสามารถใช้ภาษาอังกฤษบรรยายสิ่งต่างๆ ได้อย่างเป็นธรรมชาติมากกว่าคนที่ใช้ดิกชันนารีแปลอังกฤษเป็นไทย

๓. พจนานุกรมฉบับคำพ้อง จะไม่บรรยายความหมายของคำ รวบรวมคำพ้องความหมายไว้ด้วยกัน ภาษาไทยเรียกว่าอรรธภิธาน ภาษาอังกฤษเรียกว่า Thesaurus ส่วนใหญ่ผู้ใช้จะเป็นพวกนักแปลหรือนักโฆษณาที่ต้องคิดคำไพเราะที่แตกต่างไว้ใช้ให้งานเขียนของเขามีความเป็นเอกลักษณ์ ละเมียดละไม และจับใจผู้คน ผู้เรียนเพื่อการสอบจำหามาไว้ท่อง synonym ก็ไม่เป็นไร แต่เล่มใหญ่นะ ขอบอก

๓. พจนานุกรมหลายภาษา เช่น อังกฤษ-ไทย-จีน, ไทย-จีน-ญี่ปุ่น, อังกฤษ-ฝรั่งเศส-ไทย เป็นต้น พวกนี้เหมาะสำหรับคนที่ศึกษาสามภาษา มักจะมีคำศัพท์ การออกเสียง และคำแปล แต่มักไม่มีรายละเอียดทางด้านการไวยากรณ์หรือตัวอย่างประโยค

๔. พจนานุกรมภาพ อาจมีหนึ่ง สอง หรือสามภาษาขึ้นไป มีภาพประกอบไว้บอกว่ามันเป็นอะไรและมักไม่มีคำอธิบาย จึงไม่ค่อยมีศัพท์ที่เป็นนามธรรม เช่น คำว่า "เสื้อกันหนาว" คำเดียวในภาษาไทย เป็นภาษาอังกฤษได้ว่าอะไรบ้าง ตั้งแต่ coat, overcoat, jersey, sweater, sweatshirt, anorak, jacket, cardigan แตกต่างกันอย่างไร อ่านคำอธิบายอย่างไรก็คงไม่เห็นภาพ จำเป็นมากสำหรับการศึกษาคนที่ต้องการศึกษาวัฒนธรรมที่แตกต่าง ตั้งแต่การแต่งกาย อุปกรณ์เครื่องใช้ อาหารการกิน สัตว์ ต้นไม้ ฯลฯ จากต่างถิ่น สมัยก่อนจะเป็นภาพวาดที่คลาสสิกมากๆ แต่สมัยนี้หาได้ยากมากแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นภาพถ่าย

๔. พจนานุกรมศัพท์เฉพาะ มีตั้งแต่ พจนานุกรมศัพท์แพทย์ ชีววิทยา ปรัชญา ฯลฯ เหมาะกับผู้ต้องการศึกษาเฉพาะทางค่ะ

๕. พจนานุกรมทางเลือก แอฟฟลิเคชั่นในมือถือ หรือเว็บไซต์ดิกชันนารีออนไลน์เป็นต้น

จะเยอะไปไหนเนี่ย แล้วเลือกใช้อย่างไรดี พวกบ้าดิกชันนารีอย่างเราก็คงจะอยากได้มันหมดทุกเล่ม เนื่องด้วยไม่มีดิกชันนารีเล่มไหนที่แทนกันได้ ซึ่งมันก็จริง
แต่สำหรับคนที่เรียนภาษาปกติ คงต้องการดิกชันนารีเล่มเดียวที่ใช่ใช่ไหมล่ะ

ถ้าเค้าบอกว่าจะมาต่อตอนหน้าอีกรอบ จะดักตีหัวเค้ามั้ย
อุอุอุ


ตามหา Dictionary ชั้นเลิศ ตอนที่ ๑ คนที่ไม่ใช่จะมาก่อนคนที่ใช่ ดิกชันนารีก็เหมือนกัน

ช่วงนี้ไม่ค่อยมีเวลาวิเคราะห์โจทย์ข้อสอบกันต้องขออภัยด้วย แต่วันนี้มีหัวข้อที่อยากแบ่งปัน เรื่องของเรื่องก็คือ เราเป็นคนชอบเปิดดิกชันนารีมาก ตอนเรียนอยู่วันดีคืนดีก็เอามาเปิดหาศัพท์แล้วแบ่งกลุ่มเล่น ดิกเล่มไหนไม่มีดัชนีแบ่งตามตัวอักษรที่ขอบก็นั่งลงสีเล่นเอง ดิกเล่มไหนปกเน่าก็เอามากระดาษแข็งมาดามแล้วตกแต่งด้วยภาพปะติดและกลอนเพราะๆ ตามภาษานั้นๆ ดิกเก่าแค่ไหนก็ทิ้งไม่ลง เพราะมันเป็นประวัติศาสตร์ เอามาเปรียบเทียบได้ว่า คำนี้อีกสิบหรือยี่สิบปีข้างหน้าจะหายไปไหม หรือจะมีความหมายเปลี่ยนไปอย่างไร เรียกว่าเป็นเอามาก ทำคานไว้สะสมวางดิกชันนารีแล้วเอาตัวเองขึ้นไปกินนอนด้วยกันเลยก็ว่าได้

หลังๆ มานี่พอได้สอนไพรเวทคลาสบ่อยๆ ก็ชอบสอนให้นักเรียนหัดเปิดดิกเอง เพื่อใช้เพิ่มพูนคำศัพท์ในวงสแครบเบิ้ล และเมื่อน้องเปิดเก่งแล้วก็จะสามารถศึกษาด้วยตัวเองเวลาอยู่บ้านได้ เวลาสั่งให้อ่านบทความ น้องๆ สามารถไปเปิดดิกหาความหมายมาล่วงหน้าได้ ไม่ต้องเสียเวลาหาศัพท์ในห้องเรียนหรือเอาแต่ถามอาจารย์แล้ววิเคราะห์เองไม่เป็น เราสอนด้วยจุดมุ่งหมายให้เด็กๆ สามารถพึ่งพาตัวเองทางวิชาการได้ วิเคราะห์ข้อสอบเองได้ พอน้องสนุก ขอให้พ่อแม่ซื้อดิกชันนารีไว้เป็นสมบัติส่วนตัว ก็เลยขอให้เราช่วยแนะนำดิกชันนารีดีๆ ให้ เราก็เลยคิดว่าเรามาเขียนถึงการเลือกดิกชันนารีกันดีกว่า

เด็กหลายคนไม่ยอมเปิดดิก บอกว่าขี้เกียจและมันไม่จำเป็น แค่ใช้ application ในมือถือเอาก็พอแล้ว หาศัพท์ง่าย ไม่เสียเวลา ซึ่งก็จริงในประเด็นเหล่านั้น  แต่เราอยากบอกว่า การเปิดดิกในมือถือมีข้อดีเฉพาะการหาความหมายในสถานการณ์เฉพาะหน้าเท่านั้น และยังมีข้อเสียหลายอย่างที่ทำให้การพัฒนาด้านภาษาของผู้เรียนไม่ก้าวหน้าได้อย่างที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะดิกที่โหลดมาฟรีมักไม่มีรายละเอียดที่ผู้เรียนภาษาเพื่อการอ่าน การเขียน และการทำข้อสอบจำเป็นต้องใช้ จึงอยากขอสรุปมาตรงนี้ว่า ดิกชันนารีที่ไม่เหมาะสมในการพัฒนาภาษาเป็นอย่างไร ซึ่งไม่ได้หมายความเฉพาะ app ดิกในมือถือเท่านั้น ดิกชันนารีเป็นเล่มที่มีลักษณะเหล่านี้ก็ไม่เหมาะสำหรับคนที่เรียนภาษาอังกฤษเพื่ออนาคตเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อเรากำลังจะเข้า AEC แล้วทำสังคมเราให้เป็นสังคมอินเตอร์ที่พูดคุย สื่อสารทางวิชาการและทำธุรกิจกับต่างชาติได้ในระดับเดียวกับสากล

สรุปเลย ดิกชันนารีที่ไม่ดีต่อการพัฒนาทักษะทางภาษามีลักษณะด้งต่อไปนี้

1. ประเด็นที่สำคัญของการใช้ดิกชันนารีมือถือหรือ talking dict ที่พิมพ์คำแล้วหาความหมายได้เลย คือทำให้เด็กๆ ลืมลำดับพยัญชนะ a - z และมีความอดทนต่ำ แม้ฟังดูไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่เวลาที่ไปหาข้อมูลที่เป็นรายการในเอกสารที่ใส่คีย์เวิร์ดหาออกมาไม่ได้แล้วน้องต้องไล่มาตั้งแต่ a-z เพราะลำดับก่อนหลังไม่เป็นเนี่ย เสียเวลามากนะคะ แล้วเด็กที่แค่หัดเปิดดิกชันนารียังไม่อดทนเนี่ย จะมีความอดทนกับอะไรในชีวิตจริงบ้างไหม คิดแล้วก็น่าห่วงนะคะ เดี๋ยวนี้อะไรก็ต้องเร็วทันใจไปเสียหมด ใครอยู่ใกล้ก็คงไม่สบายใจเพราะต้องตามใจเขาไปทุกเรื่อง การให้น้องหัดเปิดดิกเป็นการฝึกความพยายามที่ไม่หนักหนาและเห็นผลได้ไว เมื่อน้องหาศัพท์ได้ไว้กว่าเพื่อนก็ภูมิใจในตัวเองได้อย่างไม่ยากเย็น และการพึ่งพาแต่แหล่งความรู้บนอินเตอร์เน็ตก็มีผลเสียมากพอๆ กับผลดีอย่างที่เรารู้ๆ กัน ว่ามีข้อมูลเท็จ ข้อมูลเทียม ข้อมูลที่ไม่สามารถนำมาใช้ได้จริงและข้อมูลที่เป็นอันตรายเต็มไปหมด เพราะการจะสร้างแหล่งความรู้บนอินเตอร์เน็ตนั้นง่ายแสนง่าย ใครๆ ก็ทำได้และแก้ไขได้ง่ายด้วยเวลาเพียงไม่กี่นาที การที่เราสามารถใช้แหล่งความรู้อื่นที่ได้มาตรฐานมากกว่า แม้จะต้องใช้เวลากับมันมากกว่าก็นับว่าคุ้มค่าในระยะยาวนะคะ

2. ดิกชันนารีที่ไม่บอกวิธีออกเสียงทำให้เด็กออกเสียงไม่ถูก เพราะดิกในมือถือโดยเฉพาะที่แถมมาหรือดาวน์โหลดมาฟรีๆ เนี่ย มักจะไม่มีคำอ่านนะคะ และคำอ่านที่เขียนเป็นภาษาไทยก็มักให้เสียงไม่ค่อยตรง ก็หลักการออกเสียงของภาษาตะวันออกกับตะวันตกมันไม่เหมือนกัน ในมหาวิทยาลัยเขาเรียนกันเป็นเทอม ดังนั้นเราจะออกเสียงได้ถูกต้องก็ด้วยการเรียนการออกเสียงตามแบบภาษาอังกฤษที่ใช้กลุ่มตัวอักษรโฟเนติกแทนเสียงเท่านั้น ไม่ใช่การเอาอักษรไทยมาแทนเสียงแล้วจบ

3.  App ดิกชันนารีในมือถือและดิกเล่มเล็กหลายเล่มไม่บอกชนิดของคำ หรือบอกแบบแกนๆ ไม่ระเอียด แต่มันเป็นที่ส่วนสำคัญมากในการทำความเข้าใจไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ การแปล และการแต่งประโยคให้ถูกต้อง การบอกชนิดของคำที่ดีต้องไม่บอกแค่เป็นคำนาม (n.) แต่ความหมายใดเป็นคำนามนับไม่ได้ (nu.) ความหมายใดเป็นคำนามนับได้ (nc.) เพราะคำนามหลายคำใช้ได้ทั้งสองแบบ และมันส่งผลต่อการใช้คำคุณศัพท์และการผันกิริยา ส่วนกิริยา (v.) ก็ต้องบอกว่าความหมายไหนต้องการกรรม (vt.)  ความหมายไหนไม่ต้องการกรรม (vi.) ซึ่งกิริยาที่ไม่ต้องการกรรมนั้นจะใช้ในรูป passive voice ไม่ได้

4.  ดิกในมือถือและดิกเล่มเล็กจำนวนมากไม่มีตัวอย่างประโยคให้เปรียบเทียบ ผลคือเด็กแปลได้เป็นคำๆ แต่เรียบเรียงความหมายในประโยคไม่ค่อยได้ แบบว่าจินตนาการไปเองได้ไกลสุดแรงฝันแต่ไม่ตรงกับความจริงในข้อเขียน เวลาทำข้อสอบก็เลยต้องเดาเป็นหลัก การเขียนก็จะอ่อนตามไปด้วย การใช้ภาษาอังกฤษอย่างเป็นธรรมชาติยิ่งไม่ต้องพูดถึง

5. app ดิกในมือถือและดิกชันนารีเล่มเล็กมักมีจำนวนคำศัพท์น้อยมาก ซึ่งไม่เหมาะสำหรับคนที่เรียนภาษาเพื่อการสอบในระดับมัธยมปลายขึ้นไป เนื่องจากในระดับนี้ เริ่มมีศัพท์ทางด้านวิชาการในข้อสอบแล้ว ดูอย่าง MDX, MD-02 ซิ (ข้อสอบสำหรับศึกษาต่อแพทย์ศาสตร์) ถ้าเป็นข้อสอบ TOEIC ก็เป็นศัพท์ทางธุรกิจ ถ้าเป็นข้อสอบ CU-Tep, TU-Get ก็เป็นศัพท์ทางวิชาการสาขาต่างๆ ตั้งแต่เคมี ชีวะ ไปจนถึงธรณีวิทยา และดาราศาสตร์ ศาสตร์แห่งภาษาและคำศัพท์นั้นกว้างใหญ่ไพศาลพอๆ กับจักรวาลดาวล้านดวง ยิ่งเราใช้หน้าต่างบานเล็กแค่ไหน เราก็เห็นได้น้อยแค่นั้นค่ะ เปรียบเทียบให้เห็นชัดๆ กันไปเลย

ถ้าอย่างนั้น ดิกชันนารีแบบไหนที่เหมาะกับผู้เรียนมากที่สุดล่ะ ก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้เรียนด้วยว่ากำลังเรียนอยู่ในระดับไหน และมีวัตถุประสงค์ของการศึกษาเป็นอย่างไร ตอนหน้า เราจะมาอธิบายให้ชัดเจนขึ้นไปอีก ดิกชันนารีแบบไหนกันนะที่น่าซื้อไว้เพื่อการเรียนภาษาที่เต็มประสิทธิภาพของแต่ละคน

รอพี่เขียนแป๊บ พี่จัดเต็มแน่นอน

ตามหา Dictionary ชั้นเลิศ ตอนที่ ๒ สิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า Dictionary