วันพฤหัสบดีที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2558

ตามหา Dictionary ชั้นเลิศ ตอนที่ ๔ อย่ากลัวดิกอังกฤษ-อังกฤษ!

นักเรียนนักศึกษาไทยหรือแม้แต่ผู้ใหญ่หลายคนไม่กล้าใช้ดิกชันนารีแบบอังกฤษ-อังกฤษ ทั้งที่มีประโยชน์มาก เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้เตรียมสอบวัดระดับภาษาอังกฤษ ผู้รู้ นักวิชาการทั้งหลายควรใช้เพื่อพัฒนาภาษาอย่างเข้มแข็งและเร่งด่วน และเราควรส่งเสริมให้เด็กๆ เริ่มใช้กันตั้งแต่ชั้นมัธยมด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะกำลังเรียนหลักสูตรปกติ คู่ขนาน หรือ English programme เพราะมีข้อดีมากมาย เช่น

1. มีตัวอักษรโฟเนติก ทำให้เรารู้หลักการออกเสียงที่ถูกต้องและสามารถออกเสียงได้ใกล้เคียงเจ้าของภาษามากที่สุด การใช้ตัวอักษรไทยเทียบเสียง แม้ว่าจะใกล้เคียงขนาดไหนก็ไม่สามารถแทนเสียงที่แท้จริงได้ อย่าหลอกตัวเองต่อไปอีกเลย

2. การอ่านคำจำกัดความเป็นภาษาอังกฤษช่วยให้เราได้ฝึกอ่านประโยคและการแต่งประโยคแบบเป็นภาษาอังกฤษจริงๆ อย่างง่ายๆ และถูกต้อง

3. จากข้อ 2. การเห็นตัวอย่างประโยคที่ถูกต้องบ่อยๆ ช่วยทำให้เราสามารถแต่งประโยคได้เองอย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้น

4. และทำให้เราสามารถอธิบายสิ่งต่างๆ เป็นภาษาอังกฤษได้เก่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเรานึกศัพท์ที่เราต้องการจะใช้จริงๆ ไม่ออก

5. ทำให้เราเข้าใจความต่างของคำพ้อง (synonym) และการใช้คำเหล่านี้มากกว่าการใช้ดิกชันนารีอังกฤษ-ไทยเพียงอย่างเดียวและรู้แค่ว่าความหมายมันเหมือนกัน โดยที่ไม่เข้าใจจริงๆ ว่ามันสามารถใช้แทนกันได้มากแค่ไหน ในสถานการณ์ไหน และเมื่อไหร่ที่ไม่สามารถใช้แทนกันได้ เช่น คิดว่า refuse กับ deny อาจแปลว่า ปฏิเสธ เหมือนกัน แต่ refuse ใช้เมื่อปฏิเสธที่จะทำ จึงใช้ในรูปของ refuse to do แต่ deny ใช้บอกว่าปฏิเสธว่าไม่ได้ทำ จึงใช้ในรูปของ deny doing เป็นต้น ใครสนใจประเด็นความต่างของคำเหมือนสามารถ like fanpage Vocab Differs ได้

6. การเคยชินกับการอ่านจับใจความเป็นภาษาอังกฤษทำให้เราไม่ตื่นเต้นสติแตกเวลาอ่านเจอคำที่เราไม่เข้าใจความหมายเพียงคำเดียว อันเป็นสถานการณ์ที่ทำให้ใครหลายคนพาลคิดว่าเราแปลไม่ออกทั้งประโยค ทั้งที่จริงๆ แล้ว เรายังสามารถเข้าใจใจความสำคัญของทั้งประโยคและทำข้อสอบได้ในหลายกรณี

คราวนี้ ดิกชันนารี แบบอังกฤษ-อังกฤษนั้นมีหลายสำนัก ซึ่งมีความแตกต่างกันในระดับที่การเลือกใช้ให้เหมาะสมและตรงกับความต้องการด้านการศึกษาและวิชาการของเราสามารถสร้างความแตกต่างให้ผู้เรียนได้ดีทีเดียว ยกตัวอย่างเช่น

Oxford มีชื่อเสียงมานานและฟังดูผู้ดี๊ผู้ดี มี mini-dictionary ออกมาให้พกพาได้สะดวก แต่จะเป็นเล่มใหญ่ที่ให้ตัวอย่างประโยค โดยรวมแล้วการให้ความหมายของคำออกไปทางวิชาการ และอาจจะเข้าใจยากถ้าเทียบกับเล่มอื่น และที่สำนักนี้ดูด้อยกว่าสำนักอื่นไปก็คือการอธิบายสิ่งต่างๆ ตามมุมมองของคนพูดอังกฤษเป็นภาษาแม่ที่ไม่ค่อยเข้าใจหรอกว่าหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่มีในวัฒนธรรมต่างชาตินั้น คนต่างชาติก็อาจจะต้องการเข้าใจบ้างว่าสิ่งนั้นๆ มีความหมายในเชิงวัฒนธรรมหรือความคิดอย่างไร

Longman จะเป็นที่ชื่นชอบของคนที่เรียนทางด้านวัฒนธรรมมากกว่า เช่น เคยเปิดเจอคำว่า the ugly sisters ที่ไม่เจอใน oxford และก็สงสัยว่า แค่ "พี่สาวน่าเกลียด" ทำไมต้องมาอยู่ในดิกชันนารีด้วย พออ่านความหมายแล้วชอบมาก คือ "เป็นพี่สาวต่างมารดาของซิลเดอเรลล่า น่าเกลียดและใจร้าย ในยุคกลางมักนิยมใช้นักแสดงชายเป็นคนแสดง และมักเป็นบทที่ใช้เรียกเสียงหัวเราะ" ล้ำเลิศมากและเห็นภาพสุดๆ Longman เคยดังมากๆ เมื่อหลายสิบปีก่อนเมื่อตีพิมพ์ดิกชันนารีฉบับ "Cultural Edition" ที่บอกด้วยว่าคำไหนมีความหมายต่อสังคมโลกอย่างไร แล้วรัฐบาลไทยตอนนั้นมีมติให้งดจำหน่ายในประเทศไทยเพราะให้คำบรรยาย "Bangkok" ว่าเป็นเมืองที่มีโสเภณีมากที่สุดในโลก ได้ยินว่า Longman ออกมาขอโทษต่อการให้ความหมายนั้น เรื่องมันนานมาแล้ว ถ้าจำอะไรผิดพลาดก็ต้องขออภัยด้วย

Macmillan อาจารย์สอนภาษาอังกฤษหลายคนชื่นชอบและแนะนำ ให้ความหมายที่เข้าใจง่าย มีฉบับ "student" ที่มีเคล็ดลับในการเรียนและการทำรายงานสำหรับนักเรียนด้วยนะ แล้วก็ยังมีฉบับวิชาการ ที่ให้ความหมายศัพท์เฉพาะทางวิชาการแบบหนักหน่วงสุดๆ อีกด้วย

นอกจากนั้นยังมี Cambridge, Collins, Merrium-Webster และอื่นๆ อีกให้เลือกสรรตามตัวเลือกที่มีในร้านใกล้บ้านหรือตามแต่จะหาเจอบนโลกออนไลน์

วิธีเลือกดิกชันนารีอังกฤษ-อังกฤษสำหรับชีวิตและอนาคตก็อาจจะพิจารณาว่าเราเน้นการศึกษาด้านไหน และลองเลือกคำมาคำหนึ่ง ใช้เปิดหาความหมายในดิกชันนารีแต่ละสำนักเปรียบเทียบกันว่าสำนักไหนที่การอธิบายความ การใช้ภาษา ตัวอย่างประโยค ความละเอียดของการอธิบายสำนวนต่างๆ ตรงใจเรามากที่สุด ส่วนตัวผู้เขียนใช้แทบทุกเล่ม เพราะบางคำหาเจอในเล่มนึงก็หาไม่เจอในอีกเล่มนึง บางทีหาเจอแล้วก็ยังอยากเปรียบเทียบความหมายในเล่มอื่นอยู่อีก แต่ไม่ได้ซื้อเองทั้งหมด อาศัยเปิดใช้ที่โรงเรียนสอนภาษากับหาบนอินเตอร์เน็ตเอา

แล้วตอนหน้าจะเอามาเปรียบเทียบให้ดูกันเต็มๆ แล้วค่อยต่อด้วยการใช้ตัวช่วยออนไลน์ในการหาศัพท์ ที่มีทั้งตามตำราและแหวกแนว แต่โดยรวมแล้วสนุกสุดๆ อย่างไรก็ตาม ถ้าเราไม่ลืมว่าบนโลกออนไลน์เป็นที่ที่ใครจะเขียนอะไรก็ได้และไม่ใช่ทุกคนที่ใช้ภาษาอังกฤษได้สมบูรณ์แบบ ความปลอดภัยในการเรียนภาษาที่ถูกต้องยังคงอยู่ในดิกชันนารีเล่มยักษ์ของสำนักต่างๆ ที่ว่ามานั่นเอง เดี๋ยวคราวหน้าจะมาเปรียบเทียบให้ฟังค่ะ













วันเสาร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2558

ตามหา Dictionary ชั้นเลิศ ตอนที่ ๓ Dictionary สำหรับเด็กๆ

Dictionary สำหรับเด็กๆ ชั้นประถมถึงมัธยมต้นควรมีตัวหนังสือไม่เล็กเกินไป อ่านง่าย ถ้ามีตัวหนังสือสองสีขึ้นไปก็จะทำให้เด็กๆ หาคำศัพท์ได้ง่ายและรู้สึกไม่เบื่อ เด็กๆ ควรเห็นแล้วชอบ มีความรู้รอบตัวและภาพประกอบที่ทำให้เขาสนใจ เช่น ธงหรือชุดประจำชาติประเทศต่างๆ พร้อมหน่วยเงินตรา ภาพพืชผัก สัตว์ เครื่องแต่งกาย ฯลฯ

ดิกชันนารีสำหรับเด็กยังไม่จำเป็นต้องเป็นดิกชันนารีแบบอังกฤษ-อังกฤษ ดังนั้นการให้คำอ่านจึงยังใช้ตัวอักษรไทยอยู่ อย่างไรก็ตาม เราควรเลือกที่การให้คำอ่านใกล้เคียงการออกเสียงในภาษาอังกฤษมากที่สุด เช่น คำว่า APPLE ควรให้คำอ่านว่า "แอ๊พ-โพ่วะ" ไม่ใช่ "แอ๊ป-เปิ้ล"

แม้จะเป็นดิกชันนารีสำหรับเด็กก็ควรบอกว่าคำแต่ละคำนั้นสามารถเป็นคำชนิดใดได้บ้าง ควรมีตัวอย่างประโยคให้เด็กๆ คุ้นเคยกับการแต่งประโยค ควรมีสำนวนที่ใช้บ่อยด้วย และถ้าเป็นคำกิริยาก็ควรผันกิริยาเป็นรูปต่างๆ ให้เห็น เช่น

LOVE (เลิ่ฟฺ) n. 1 ความรัก เช่น Love is good. ความรักเป็นสิ่งที่ดี v. 2 loves, loving, loved, have loved รัก เช่น I love my family. ฉันรักครอบครัวของฉัน puppy love ความรักใคร่ชอบพอกันของเด็กๆ 

ตีความได้ว่า

คำว่า LOVE อ่านว่า "เลิ่ฟฺ" 
ความหมายที่ 1 เมื่อเป็นคำนาม (noun) มีความหมายว่า ความรัก เช่น Love is good. (ความรักเป็นสิ่งที่ดี)  
ความหมายที่ 2 เมื่อเป็นคำกิริยา (verb) มีความหมายว่า รัก เช่น I love my family (ฉันรักครอบครัวของฉัน)
          เมื่อใช้กับ สรรพนามบุรุษที่สามเอกพจน์ใน present tense ใช้ loves 
          เมื่อใช้เป็น gerund หรือใน continuous tense ใช้ loving (ตัด e ข้างท้ายออก)
          เมื่อใช้ใน past tense ใช้ loved
          เมื่อใช้ใน perfect tense หรือ passive voice ใช้ loved
 สำนวน puppy love แปลว่า ความรักใคร่ชอบพอกันของเด็กๆ 

และส่วนตัวแล้วคิดว่า ดิกชันนารีสำหรับการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพของเด็กๆ ควรจะมีคำศัพท์อย่างน้อย 20,000 คำ

น่าเสียดายว่าดิกชันนารีอังกฤษ-ไทย ที่เคยพาน้องนักเรียนไปเลือกนั้นหาเล่มที่มีครบทุกอย่างนี้ได้ยากมาก บางเล่มอธิบายดี การเลือกใช้คำไพเราะและนำมาใช้งานได้จริงในระดับงานแปล บางเล่มภาพประกอบสวย ชัดเจน บางเล่มมีคำศัพท์ยากๆ เยอะ แต่การจัดรูปเล่มทำให้หาคำได้ลำบาก และคำแปลแปลแบบห้วนๆ พอรู้ว่าอะไรเป็นอะไร แต่นำมาใช้ไม่ได้จริงในการแปล บางเล่มดีเกือบทุกอย่าง แต่วงคำศัพท์น้อยมาก ก็ต้องมาปรึกษากันว่าอะไรสำคัญที่สุดและน้องๆ ชอบเล่มไหนมากที่สุด (หรืออาจจะต้องซื้อสองเล่ม) อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดในวัยนี้ไม่ใช้ความรู้แบบจัดเต็ม แต่เป็นการเรียนรู้ภาษาอย่างสนุกสนาน ทำให้เขาอยากศึกษาต่อเองที่บ้าน และเพิ่มพูนทักษะในการพัฒนาภาษาด้วยตัวเองสำหรับวันข้างหน้า เพราะภาษานั้นได้ผลดีที่สุดเมื่อผู้เรียนมีทักษะในการเรียนรู้ มีวินัยเสมอต้นเสมอปลาย และรู้ว่าเขาต้องการรู้อะไรและเพื่ออะไร